ดีเอสไอเผยผลสอบ GT200 ไร้ประสิทธิภาพ กองทัพบกยันเลิกใช้แล้ว

สังคม
25 เม.ย. 56
04:40
277
Logo Thai PBS
ดีเอสไอเผยผลสอบ GT200 ไร้ประสิทธิภาพ กองทัพบกยันเลิกใช้แล้ว

นักธุรกิจอังกฤษที่ขายเครื่องตรวจระเบิดปลอมหลายรุ่น รวมถึงรุ่น GT200 ที่ขายให้กับประเทศไทย ถูกศาลอังกฤษตัดสินว่ากระทำผิดจริงและอาจต้องโทษจำคุกถึง 10 ปี ขณะที่ ดีเอสไอ ได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และอัลฟ่า 6 แล้วประมาณ 90 คน หลังจากคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวถึงการสอบสวนคดีฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องจีที 200 และ อัลฟ่า 6 ว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้รับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากบริษัทเอกชนได้เสนอขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ไม่มีประสิทธิภาพให้กับหน่วยราชการของไทย 13 หน่วยงาน จำนวน 1,358 เครื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย กว่า 1,100 ล้านบาท ในการสอบสวน ดีเอสไอได้มีการสอบปากคำผู้กล่าวหา พยานบุคคลที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับ และพยานผู้ใช้เครื่องประมาณ 90 ปาก ซึ่งให้การยืนยันว่าเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถใช้งานได้จริง สอด คล้องกับรายงานผลการดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ทำการทดสอบยืนยันว่า เครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำพยานในคดีฉ้อโกง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในส่วนของการอนุมัติจัดซื้อ การเขียนทีโออาร์ซึ่งเป็นการล็อคสเปคซื้อ โดยไม่มีสินค้าอื่นมาเปรียบเทียบคุณภาพ และการสอบสวนความเชื่อมโยงทางการเงิน ซึ่งพบข้อมูลว่า ในขั้นตอนการตรวจรับบริษัทแม่ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 จะเป็นผู้จัดหาและนำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบวัตถุระเบิด (EOD) มาเอง เพื่อจัดฉากในขั้นตอนการทดสอบใช้เครื่องมือค้นหาวัตถุระเบิด ซึ่งสอดรับว่าบริษัทผู้ผลิตจงใจและเตรียมแผนการเพื่อหลอกลวงขายสินค้ามาตั้งแต่ต้น

ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า เครื่อง จีที 200 ถูกสั่งระงับการใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นานแล้ว หลังจากมีข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพในการใช้ตรวจหาวัตถุระเบิด โดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นผู้สั่งให้ระงับการใช้งานจนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางกองทัพก็ยอมรับทุกอย่างตามกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการเน้นย้ำให้ยุติการใช้งานเครื่อง จีที200 อีกครั้งหนึ่ง และจัดซื้อจัดหาเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ไฟโด้ มาทดแทน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ สำหรับหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง จีที200 และ อัลฟ่า 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จังหวัดพิษณุโลก ,กรมการปกครอง ,กรมศุลกากร ,กรมสรรพาวุธทหารบก, ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท , ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดยะลา, จังหวัดภูเก็ต, จังหวัดเพชรบุรี , องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา , กองบัญชาการกองทัพไทย โดยศูนย์ความปลอดภัยแห่งชาติ, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมราชองครักษ์

ด้านศาลอาญากลาง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีคำตัดสินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 56 ปี เจ้าของบริษัท ATSC มีความผิดจริงข้อหาฉ้อฉล 3 กระทงจาก การจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ให้กับหลายประเทศ รวมถึง อิรัก จอร์เจีย อียิปต์และไทย โดยจำหน่ายในราคาเครื่องละประมาณ 40,000 ดอลลาร์หรือ กว่า 1.1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศาลอังกฤษนัดฟังคำตัดสินลงโทษแมคคอร์มิคในวันที่ 2 พฤษภาคม และอาจต้องโทษจำคุก 10 ปี สำหรับการก่ออาชญากรรมที่ขาดจิตสำนึกถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานที่หวังพึ่งอุปกรณ์ ตัวนี้ในการปกป้องและรักษาความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง