เปิดตัวหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1”

สังคม
25 เม.ย. 56
10:30
289
Logo Thai PBS
เปิดตัวหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1”

มพบ. สสส. หวังเป็นสื่อกลางให้สังคมรู้ถึงสิทธิที่พึงมี

 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส., สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม, กลุ่มปลาเป็นว่ายทวนน้ำ, บริษัท กู้ดจ็อป โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวหนังสั้น “เล่าเรื่องผู้บริโภค 6+1 เรื่อง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง ผ่านทีมผู้กำกับระดับมืออาชีพ

          
 โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2522 แต่จากการทำงานที่ผ่านมาทางมูลนิธิได้เห็นผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกหลอกทุกวัน เพียงเพราะบางครั้งผู้บริโภคบางคนรู้แต่หลงลืม หรือไม่รู้ว่าที่จริงแล้วเราก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคอยู่ จึงทำให้ทุกคนยังประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ 
 
จากการทำงานต่อสู้มาอย่างยาวนานถึง 15 ปีของมูลนิธิฯ ก็ยังไม่มีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของทั้งสองสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเสร็จและรอนำสู่การพิจารณาของทั้งสองสภาเพื่อให้การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน นั่นจะเป็นกลไกใหม่ที่เป็นความหวังของผู้บริโภค จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
             
ด้วยมาตรา 61 รัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าด้วยสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย
            
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราทำงานรณรงค์ต่อสู้มาก็มากแล้ว จึงคิดว่าถ้าปรับกลยุทธ์มาใช้ศิลปะ โดยเฉพาะหนังสั้นมาเป็นสื่อกลางบ้างน่าจะทำให้เข้าถึงประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รู้จักมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และรับทราบประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น และในที่สุดผู้บริโภคช่วยสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว โครงการหนังสั้นเพื่อผู้บริโภค “เล่าเรื่องผู้บริโภค” จึงเกิดขึ้นโดยใช้สื่อภาพยนตร์สั้น เป็นสื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค เพื่อสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง โดยทีมผู้กำกับระดับมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์งาน
 
          
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เพื่อเป็นการสื่อสารให้สังคมรู้ถึงสิทธิที่ตนพึงมีจึงมีการจับมือกับผู้กำกับหนังมืออาชีพ 5 คนสร้างสรรค์หนังสั้น+สารคดีสั้น รวม 6 เรื่อง อาทิ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี กำกับหนังสั้นเรื่อง กรรมใคร...? ที่นำเสนอประเด็นปัญหายอดฮิตของผู้บริโภคไทย อย่างปัญหาหนี้บัตรเครดิต, นายมานุสส วรสิงห์  กำกับหนังสั้นเรื่อง Priceless ที่เล่าเรื่องปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสาร, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา กำกับหนังสั้นเรื่อง กลับบ้าน ที่นำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาบริการรถตู้โดยสารสาธารณะ, นายบุญส่ง นาคภู่ กำกับหนังสั้นเรื่อง Disconnected พูดเรื่องปัญหาจากบริการโทรศัพท์มือถือที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และนายพัฒนะ จิรวงศ์ ผู้กำกับสารคดีสั้นเรื่อง 61 ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ การต่อสู้ชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะสายสิงห์บุรี - ลพบุรี ที่ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริงของผู้ประสบเหตุในครั้งนั้น 
 
โดยหนังสารคดีสั้นเล่าเรื่องผู้บริโภค ที่ติดตามการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่พยายามผลักดันมาตรา 61 กับการทำงานที่สะท้อนออกมาในมุมมองของนักรณรงค์ที่มุ่งมั่นเรียกร้องสิทธิที่พึงมี และผู้บริโภคควรได้รับ ส่วน +1 เป็นคลิปเด็ดที่เป็นพิธีกรรมสาปแช่งเรื่องคำอธิษฐานจากผู้บริโภค ที่ต้องการสะท้อนถึงทางออกที่ทำได้ในการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคที่ถูกกระทำ โดยทั้งหมดเป็นหนังสั้นที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งสิ้น
           
นายดนัย หวังบุญชัย กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนในฐานะที่เป็น “ผู้บริโภค” ได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ได้กำหนดให้เป็น “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย” จึงเหมาะที่จะใช้ช่วงนี้ปลุกกระแสสังคมให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้สึกอยากจะมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบสามารถเรียกร้องสิทธิ ความเป็นธรรม และฟ้องร้องได้ทัดเทียมกับนานาประเทศที่มีความเจริญแล้วด้วย

โดยทุกเสียงมีความหมาย ซึ่งหนังสั้นทุกเรื่องที่อยู่ในโครงการนี้นอกจากจะเป็นเสมือนโครงการเล่าเรื่องโกงภาค 2 และเชื่อว่าหนังสั้นที่ออกมาจะเป็นตัวกระตุกและกระตุ้นสังคมให้มองว่าทุกอย่างมีเหตุและมีผลและก็มีความเป็นธรรมเหลืออยู่ในสังคม ทุกคนต้องช่วยกันขยายผลต่อยอดเพื่อสุดท้ายจะได้มาซึ่งกฎหมายที่ดี ได้สังคมที่ดี และก็ทุกคนอยู่กันอย่างเท่าเทียม และมีความเป็นธรรมร่วมกันได้  

                
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง