ใครว่าพวกเราอยู่อย่างสุขสบายในแดนประหาร

26 เม.ย. 56
08:53
236
Logo Thai PBS
ใครว่าพวกเราอยู่อย่างสุขสบายในแดนประหาร

“ในบรรดาคนที่กล่าวว่า พวกเราอยู่อย่างสุขสบายในฐานะนักโทษประหาร ไม่มีใครเลยที่เคยต้องเผชิญสภาพนั้นด้วยตัวเอง”

 เดมอน ทีโบดัวซ์ ใช้ชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายเพื่อรอการประหารเป็นเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

 
ชายชาวอเมริกันวัย 38 ปีคนนี้ ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาฆาตกรรมเด็กหญิงคริสตัล แชมเปญ วัย 14 ปี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง และถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2540 แต่เขายืนกรานเสมอว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลังจากที่ต้องใช้ชีวิตในคุกเป็นเวลา 15 ปี เขาก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระจากเรือนจำของรัฐหลุยเซียน่า  ที่เมืองแองโกลา (หนึ่งในเรือนจำที่เลวร้ายที่สุดในประเทศ) นี่คือเรื่องราวของเขา
 
“คำสารภาพ”
 
คดีของทีโบดัวซ์นั้นมีความผิดปกติ ในสหรัฐอเมริกา ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมนับเป็นสิ่งที่ปรากฎเด่นชัดในการใช้โทษประหาร กรณีของธิโบโดเป็นหนึ่งในนั้น ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมามีผู้ต้องโทษประหารชีวิตมากกว่า 140 คนที่ต่อมาสามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาบริสุทธิ์ และไม่ต้องรับโทษประหาร ซึ่งนั่นคือเหตุผลสำคัญที่แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตควรพิจารณาเพื่อระงับการสนับสนุนการใช้โทษดังกล่าว
 
เช้ามืดของวันที่ 21 กรกฎาคม 2539 ทีโบดัวซ์อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจ และถูกสอบปากคำเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกือบ 9 ชั่วโมง ในขณะนั้นเขาอายุ 19 ปี เขารับสารภาพว่าเป็นคนฆ่าลูกพี่ลูกน้องวัย 14 ปี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเขาไม่มีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมดังกล่าว  
 
สองสามชั่วโมงต่อมา เขาบอกกับทนายความอย่างเหนื่อยอ่อนว่า เขาแกล้งสารภาพเพื่อยุติการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
อย่างไรก็ตาม คำสารภาพนั้นเป็นเสมือนอาวุธร้าย ประกอบกับรายละเอียดของการฆาตกรรมที่ไม่ถูกต้อง ผลของการฟ้องร้องพบว่าเขามีความผิด และคณะลูกขุนลงมติเป็นเอกฉันท์ตัดสินโทษประหารชีวิต
 
หลังจากนั้น ทีโบดัวซ์กลายเป็นนักโทษประหารที่ถูกขังเดี่ยวในเรือนจำความมั่นคงสูงสุดของรัฐหลุยเซียนา ที่แองโกลาเป็นเวลานาน 15 ปี
 
“ในคุกแองโกลา คุณอยู่ในห้องขัง 23 ชั่วโมงต่อวัน คุณไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับใครทั้งสิ้น อาหารถูกนำมาให้ถึงที่ คุณได้ใช้เวลาในสนามวันละหนึ่งชั่วโมง สามครั้งต่อสัปดาห์ หรือคุณสามารถอยู่ข้างในใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงในห้องโถง ภายในหนึ่งชั่วโมงนั้น คุณต้องอาบน้ำ ใช้โทรศัพท์ ออกกำลังกาย หรือ ทำอะไรก็ได้” ทีโบดัวซ์เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟัง
 
“ในแดนประหาร อากาศร้อนแทบเป็นบ้า ในหน้าร้อน ร้อนจนคุณต้องใส่แค่กางเกงในตัวเดียว เหงื่อท่วมตัว กลางคืนก็นอนไม่หลับ ใครที่พูดว่าพวกเราอยู่อย่างสุขสบายในแดนประหารนั้น แสดงว่าไม่เคยรู้เลยว่าสภาพในแดนประหารนั้นเป็นอย่างไร มันเป็นสถานที่ที่ไม่สะดวกสบายอย่างที่สุด”  
 
“ครอบครัวของผมเคยมาเยี่ยม 4 ครั้งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สำหรับบางครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเดินทางมาที่แองโกลา เพราะคุกนั้นตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก”
 
จุดสิ้นสุด
 
ทีโบดัวช์กล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกี่ยวกับการเป็นนักโทษประหาร คือ การรับรู้ว่ารัฐมีความตั้งใจที่จะฆ่าคุณ
 
“โชคดีที่ผมไม่ต้องรอถึงวันประหารชีวิต ข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐต้องการจะฆ่าคุณ เป็นสิ่งที่คุณต้องยอมรับและเผชิญหน้ากับมัน มันไม่ใช่สิ่งที่คนทุกคนจะรับมือในวิธีการที่เหมือนกัน”
 
วันนี้เขาเป็นอิสระ  ทีโบดัวช์กล่าวว่าเขาเชื่อเสมอว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัวออกจากแองโกลา แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่  ความผิดปกติในคดีของเขาประกอบกับหลักฐานว่ามีการลงโทษผิดพลาด สำนักงานอัยการเขตตกลงที่จะทำการสืบสวนคดีนี้ใหม่ร่วมกันกับทนายความของจำเลยในปี 2550
 
“ผมรู้ล่วงหน้าว่าผมจะพ้นข้อกล่าวหาประมาณ 2-3 ปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว   อัยการเขตต้องการที่จะมั่นใจว่าไม่ได้ปล่อยตัวบุคคลที่เป็นอันตรายสู่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ มันไม่ง่ายที่จะปล่อยคนที่คุณได้ดำเนินคดีและพิพากษาให้ประหารชีวิต”
 
หลักฐานทางดีเอ็นเอ
 
ในระหว่างการสืบสวนคดีครั้งใหม่ อัยการเขตปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคำรับสารภาพที่ขัดแย้งกันเอง และสรุปว่าคำรับสารภาพของทีโบดัวซ์นั้นยังไม่น่าเชื่อถือ อัยการเขตประกาศว่า “หลักฐานสำคัญในคดีนี้ คือ คำรับสารภาพนั้นไม่น่าเชื่อถือ ปราศจากคำรับสารภาพดังกล่าว ก็ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถเอาผิดเขาได้ ดังนั้น ในนามของความยุติธรรมคดีนี้จึงต้องถือเป็นโมฆะ“
 
ในคำสั่งศาลลงวันที่ 27 กันยายน 2555 ผู้พิพากษาสั่งให้ปล่อยทีโบดัวซ์ออกจากคุก การทดสอบทางนิติเวชพบว่าไม่มีหลักฐานทางกายภาพที่เชื่อมโยงเขากับอาชญากรรม และการทดสอบดีเอ็นเอจากตัวอย่างของเลือดที่พบบนลวดที่ใช้ในการรัดคอเหยื่อ เผยให้เห็นว่าเป็นดีเอ็นเอของชายอื่นที่ไม่ใช่ทีโบดัวซ์
 
โครงการผู้บริสุทธิ์ (The Innocence Project) มีบทบาทในการสืบสวนคดีใหม่ให้นักโทษมากกว่า 300 คนทั่วประเทศพ้นข้อกล่าวหาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา (ในจำนวนนั้นมี 18 คน ที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต) หลักฐานทางดีเอ็นเอกลายเป็นส่วนสำคัญในการยืนยันความบริสุทธิ์ของพวกเขา อย่างไรก็ตาม คดีจำนวนมากไม่มีหลักฐานดีเอ็นเอที่สามารถทดสอบได้ ดังนั้นวิธีการนี้จึงไม่สามารถใช้พิสูจน์ได้สำหรับนักโทษจำนวนมากที่อ้างว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์
 
“แม้ว่าผมจะรู้ล่วงหน้า 2-3 ปีว่าจะได้รับการปลดปล่อย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถทำใจรับได้ เมื่อตอนที่ผมเดินผ่านประตูออกมา ผมรู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่ มันเป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อมาก คุณใช้เวลา 15 ปี อยู่ในห้องขัง คุณถูกขังไว้ 23 ชั่วโมงต่อวัน แล้วจู่ๆ คุณถูกปล่อยออกมา มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวในเวลาเดียวกัน เพราะมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลา 15 ปี แต่ผมก็เดินออกมาได้อย่างสง่าผ่าเผย” ทีโบดัวซ์กล่าว
 
โลกใบใหม่
 
ตอนนี้ทีบัวโบดัวซ์กำลังสร้างชีวิติใหม่ในรัฐมินนิโซตา ทำงานพาร์ทไทม์ และอาศัยอยู่ในแฟลต   เขาไม่เคยได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากรัฐ และกำลังพยายามที่จะปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ที่มีอิสรภาพในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 15 ปี ที่เขาใช้เวลาอยู่หลังลูกกรง นอกจากนั้นเขายังได้กลับมาติดต่อกับลูกชายวัย 21 ปี
 
ทีบัวโบดัวซ์เล่าวว่า “เราได้ดูโทรทัศน์และอ่านหนังสือพิมพ์ในคุก ผมได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาในยุคดิจิตอล แต่การที่จะต้องพยายามตามสิ่งเหล่านั้นให้ทัน แม้กระทั่งตอนนี้ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ผมต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานสิ่งของบางอย่างที่ผมไม่รู้จัก เช่น ไอพอดหรือคอมพิวเตอร์ – ผมคงต้องโทรศัพท์ไปหาใครสักคนเพื่อถามเขา”
 
ทีโบดัวซ์เป็นนักโทษประหารคนที่ 141 ในสหรัฐฯ ที่ถูกปล่อยตัวนับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมาด้วยสาเหตุว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นักโทษจำนวนมากถูกประหารชีวิต ทั้ง ๆ ที่มีข้อสงสัยมากมายในการตัดสินลงโทษพวกเขา
 
“คดีนี้เป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่งว่าโทษประหารชีวิตมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดที่ไม่อาจย้อนเอาชีวิตกลับคืนมาได้ เจ้าหน้าที่ทางการทั่วประเทศสหรัฐฯ ควรจะสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเดมอน ทีโบดัวซ์ และร่วมมือกันเพื่อยุติการลงโทษที่โหดร้ายนี้” ร็อบ เฟรียร์ นักวิจัยประจำประเทศสหรัฐฯ แอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง