พท. - นปช.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

26 เม.ย. 56
14:44
84
Logo Thai PBS
พท. - นปช.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการทั้งด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ รวมถึงอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ต่างเชื่อมั่นว่ากรณีความขัดแย้งระหว่างองค์กร คือรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แม้จะมองกันคนละมุมก็ตาม ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแนวร่วม นปช. เดินหน้ายื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นศาลแล้ว

วันพุธที่ 1 พฤษภาคมนี้ นอกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรียกประชุมพิจารณาคำร้องวินิจฉัยกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้ว สมาชิกรัฐสภา 312 คน ที่ลงมติรับหลักการในการแก้รัฐธรรมนูญตามคำร้อง เตรียมแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาลอย่างเป็นทางการ

ส่วนการเคลื่อนไหวกดดันศาลรัฐธรรมนูญ โดยแนวร่วม นปช. เพื่อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งนั้น วันนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานดูหมิ่นศาล ส่วนคำร้องถอดถอน ป.ป.ช.รับไว้พิจารณาแล้ว โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมสัมทับเข้าชื่อเตรียมยื่นเรื่องต่อวุฒิสภา เพื่อลงมติถอดถอนอีกทาง

และไม่เพียงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เท่านั้น ที่ส่งสัญญาณบอกกล่าวถึงกรณีบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวล่วงบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ออกมาระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เกินขอบข่ายอำนาจ

การเคลื่อนไหวอันเกี่ยวเนื่องกับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น รศ.ตระกูล มีชัย ชี้ว่าเป็นแค่ "ละครการเมือง" ที่เดินเรื่องตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้าทำหน้าที่ตามกฎหมายให้เกิดความชัดเจน

ขณะที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย ระบุว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" ที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กร หากแต่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกรณีขอบข่ายอำนาจ และที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกคัดค้านมาโดยตลอด แต่ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เชื่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาคือ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น เพื่อขจัดปัญหาการตีความในอนาคต และแม้จะยอมรับในการชุมนุมที่เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่ทำได้ แต่ก็ไม่พึงกระทำในลักษณะกดดัน

นายเดโช สวนานนท์ อดีต ส.ส.ร ปี 2540 และปี 2550 กล่าวยอมรับในบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กร ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ชัดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับสาระสำคัญของการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา ประกอบไปด้วย 5 เหตุผล คือการรับคำร้องโดยไม่มีกฎหมายรองรับ, ไม่กระทำตามกระบวนการกฎหมาย และเร่งรีบรวบรัดพิจารณารับคำร้อง รวมถึงคำยืนยันในอำนาจการแก้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อเสนอปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญของ คอ.นธ นั้น 3 ใน 4 ประเด็น เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยประเด็นสำคัญ คือการวินิจฉัยร่างกฎหมาย ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง