"การเหยา" วิถีทางรักษาของ "ชาวผู้ไท" ยามเจ็บไข้ได้ป่วย

ศิลปะ-บันเทิง
27 เม.ย. 56
15:18
1,007
Logo Thai PBS
"การเหยา" วิถีทางรักษาของ "ชาวผู้ไท" ยามเจ็บไข้ได้ป่วย

ยามเจ็บไข้ก็ไปหาหมอ แต่สำหรับชาวผู้ไท ยังให้ความสำคัญทางใจเพราะเชื่อว่า เมื่อใจแข็งแรงย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายด้วย เห็นได้จากการรักษาที่เรียกว่า "การเหยา" เพื่อรักษาสุขภาพตามความเชื่อและภูมิปัญญาที่ยังสืบทอดอยู่ในชุมชน

การเป็นหมอเหยาเข้าทรงรักษาอาการป่วยให้กับคนในหมู่บ้านมาเกือบ 40 ปี ของ"จงใจ อัคติ" ยังนำสืบทอดประเพณี เหยาเลี้ยงผีไม่เคยขาด ตามความเชื่อในการนับถือผีของชาวผู้ไท ที่ถึงปี จะมีงานแสดงความเคารพหรือขอบคุณผู้คอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชนให้อยู่ดีมีสุข การฟ้อนบูชาเป็นหน้าที่ของหมอเหยา นางเทียม หรือคนที่เคยเจ็บป่วยแล้วหาย มาจากหลายชุมชนชาวผู้ไทในอ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ที่ยังเหนียวแน่นในศรัทธาดั้งเดิม พยายามควบคุมกายและใจ ไม่ทำผิดข้อห้าม

การเหยาของชาวผู้ไท สัมพันธ์กับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เดิมมี 8 อย่าง เช่น เหยาคนตั้งท้อง เหยาทารกร้องไห้ ไปจนเหยาขอฟ้าขอฝน แต่ว่าที่หายไปแล้วก็มีเหยาควงสาวควงบ่าว เสี่ยงทายให้กับหนุ่มสาวที่ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเครื่องคายเป็นเสมือนเครื่องมือสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ บอกสาเหตุความเจ็บป่วย คล้ายกับการวินิฉัยโรคของแพทย์ในปัจจุบัน

   

ไข่ไก่ ข้าวสาร เหล้า เงิน 6 บาท และเสียงแคนเป่าเข้าสู่การเหยาเรียกขวัญ เป็นของสำคัญในการแต่งเครื่องคาย หรือเครื่องบูชาตามความเชื่อของชาวผู้ไท บ้านดอนไม้คุ้ม ในกาฬสินธุ์ อีกปีที่คณะหมอเหยาได้ตรวจทำนายอาการและทำขวัญให้กับเครือ แสนสินธุ์ หญิงชราวัย 97 ปี แทนขวัญกำลังใจและเสริมสุขภาพ

แม้ในหมู่บ้านจะเหลือหมอเหยาเพียง 3 คน แต่ชุมชนชาวผู้ไทแห่งนี้ ก็ช่วยกันฟื้นฟูวิถีการดูแลสุขภาพด้วยการเหยาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผ่านกระบวนการวิจัยชุมชน เพื่อหาความหมายของภูมิปัญญาบรรพบุรุษ หวังนำวัฒนธรรมการเยียวยากันเองของคนในหมู่บ้าน มาผสมผสานคู่กับระบบบริการแพทย์แผนปัจจุบัน

คำมล แสนสินธุ์ คณะวิจัยหมอเหยา บอกว่า วิถีการดูแลสุขภาพชาวผู้ไท  การเหยาเป็นการรักษาทางใจ กายก็ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องนึกถึงสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีของเราก่อน
 
ขณะที่ปรียาวรรณ การวิทยี หัวหน้าโครงการวิจัยหมอเหยาฯ บอกว่า สามารถนำความเชื่อเรื่องการเหยามาปรับเข้ากับระบบการดูแลสุขภาพปัจจุบันได้อย่างไร

ชาติพันธุ์ผู้ไท ถือประเพณี 12 เดือน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ใช้การเหยารักษาสุขภาพมานานแล้ว โดยมีหมอเหยาเป็นสื่อรักษา อาศัยหลักจิตวิทยาสื่อสาร ที่อาจช่วยให้คนป่วยหายเร็วขึ้น การศึกษายังพบว่าการเหยาของชาวผู้ไท มีรากฐานมาจากความคิด และศรัทธา ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม จึงสอดคล้องกับวิถีชีวิต ที่ดำเนินไปด้วยจารีตของชุมชน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง