หลากทัศนะต่อ "ถังสะดวกทิ้ง"

สังคม
28 เม.ย. 56
14:25
127
Logo Thai PBS
หลากทัศนะต่อ "ถังสะดวกทิ้ง"

ขณะนี้บริเวณที่สาธารณะป้ายรถโดยสารประจำทาง บนทางเท้าทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะพบว่ามีการนำถังขยะรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า ถังสะดวกทิ้ง กว่า 35,000 ใบมาติดตั้ง แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีราคาสูง ใบละกว่า 2,000 บาท และใส่ขยะไม่พอ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านการออกแบบ เห็นว่า ราคาค่อนข้างเหมาะสม และใช้วัสดุทนทาน คุ้มค่ากับการใช้งาน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ถังขยะรุ่นใหม่ดีกว่าแบบเดิม แต่อยากให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน

หลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครขณะนี้ จะพบว่าแต่ละสำนักงานเขตได้นำถังขยะรุ่นใหม่ ที่จัดซื้อจำนวน 35,000 ใบ งบประมาณกว่า 70 ล้านบาทมาติดตั้งไว้แล้ว ถังขยะรุ่นใหม่นี้เรียกว่าถังสะดวกทิ้่ง ขนาด 85 ลิตร ลักษณะภายนอกเป็นพลาสติกลายไม้ สีน้ำตาล ตรงฐานรองรับด้วยคอนกรีต หนักกว่า 20 กก.เพื่อความมั่นคงของถัง ส่วนถังชั้นในเป็นพลาสติกขาว มีฝาปิด และมีช่องใส่ขยะเปิดปิดได้

ถังสะดวกทิ้ง ถูกนำมาตั้งไว้ในที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถโดยสารประจำทาง , ทางเท้า แต่จากการลงพื้นที่พบว่า หลายๆ แห่ง ที่เป็นจุดศูนย์รวมคนจำนวนมาก อย่างบริเวณสวนจตุจักร กลับพบว่า ถังสะดวกทิ้งยังมีปริมาณน้อยเกินไป สภาพจึงเป็นอย่างที่เห็น

<"">
<"">

 

ประชาชนส่วนใหญ่ ยอมรับว่า ถังขยะรุ่นใหม่ดูแข็งแรง ทนทาน กว่าแบบเดิม ที่ใช้ถุงขยะใส ติดไว้กับโครงเหล็ก เพราะเมื่อถุงขยะล้น ถุงขาด ขยะจะกระจัดกระจาย ดูไม่สะอาดตา

หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงความไม่สะดวกต่อการทิ้งเศษขยะมูลฝอยชิ้นเล็ก เช่น ถุงพลาสติก ตั๋วรถประจำทาง กระป๋อง ขวด แก้วน้ำ ในที่สาธารณะ เพราะหาที่ทิ้งยาก จึงมีการทิ้งขยะตามพื้น ซอกมุมของเสาไฟฟ้า หรือตู้โทรศัพท์ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.จึงหวังให้ถังสะดวกทิ้งช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน

ในส่วนการออกแบบที่เน้นให้ง่ายต่อการใช้งานนั้น ในมุมมองของ รศ.จารุพรรณ ทรัพย์ปรุง คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา เห็นว่า ออกแบบได้ดี วัสดุที่ใช้ก็ถือว่า ค่อนข้างเหมาะสมกับราคาที่ตกใบละกว่า 2,000 บาท แม้จะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายว่าแพงเกินไป

กว่า 2 เดือนที่ถังสะดวกทิ้งถูกนำมาติดตั้งไว้ทั่วพื้นที่ กทม. แต่นายบรรจง สุขดี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ก็ยอมรับว่า ยังขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนหลายพื้นที่ใช้งานผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำขยะขนาดใหญ่มาทิ้ง ทำให้ถังขยะล้น 

ขณะเดียวกันต้องเพิ่มการดูแลรักษามากขึ้น เพราะพบว่าถังจำนวนไม่น้อยมีสภาพชำรุดแล้วเช่นกัน จึงกำชับให้พนักงานทำความสะอาด กทม. หมั่นตรวจสอบการวางให้เป็นระเบียบ อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และขอความร่วมมือประชาชนทิ้งขยะในช่องทิ้ง อย่าเปิด หรือทำลายฝาถัง เพื่อไม่ให้น้ำฝนไหลลงถัง ป้องกันกลิ่นเหม็น และแมลงต่างๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง