ส.กรีฑาวางเกณฑ์คัดเลือกนักวิ่งระยะสั้น-ระยะไกล

กีฬา
28 เม.ย. 56
14:26
4,121
Logo Thai PBS
ส.กรีฑาวางเกณฑ์คัดเลือกนักวิ่งระยะสั้น-ระยะไกล

สมาคมกรีฑาวางหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักกรีฑาดาวรุ่ง เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในอนาคต โดยใช้หลักสากล เน้นนักวิ่งระยะสั้นต้องมีรูปร่างสูงใหญ่สรีระดี ขณะที่นักวิ่งระยะไกล รูปร่างต้องผอมบาง มีความคล่องตัวสูง ตั้งเป้าผ่านเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2016 และ 2020 หลายรายการ

พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล; เลขาธิการสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าช่วงหลายปีมานี้ สมาคมมีนโยบายเฟ้นหานักรีฑาดาวรุ่งเข้าสู่โครงการสปอร์ตฮีโร่ ในทุกประเภท เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ โดยเฉพาะนักวิ่งระยะสั้น และระยะไกล ซึ่งหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักวิ่งระยะสั้นนั้นนอกจากสถิติแล้ว ก็ยังดูเรื่องโครงสร้างและส่วนสูงเป็นหลักซึ่งขณะนี้สมาคมมีนักกรีฑาเยาวชนหญิงที่มีความสูงระหว่าง 168-172 ซม. อยู่หลายคนขณะที่ผู้ชายก็มีความสูงระหว่าง 175-183 ซม. และแต่ละคนก็อายุเพียง 15-17 ปีเท่านั้น

ส่วนแผนการสร้างนักวิ่งระยะไกลตอนนี้ พล.ต.ต.ศุภวณัฏฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทยระบุว่าได้ ปีเตอร์ มูตู ตีตี้ อดีตหัวหน้าโค้ชกรีฑาทีมชาติเคนย่า มาดูแลก็ได้ช่วยคัดสรรนักกีฬาเยาวชนที่รูปร่างเหมาะสมไปร่วมฝึกซ้อมอยู่ที่ อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าน่าจะได้เพชรน้ำงามอีกหลายคน

สำหรับนักวิ่งระยะไกล กับนักวิ่งระยะสั้นที่ต้องคัดเลือกนักกีฬาที่มีรูปร่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็เพราะ นักวิ่งทั้ง 2 ประเภทฝึกกล้ามเนื้อคนละชนิด โดยนักวิ่งระยะสั้นต้องมีการบิดกล้ามเนื้อโดยฉับพลันด้วยการจุดระเบิดการเผาพลังงานที่ได้มาจากคาร์โบไฮเดรตในเสี้ยววินาที ต้องฝึกเวทเทรนนิ่งให้มีขนาดกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรงในการเร่งสปีด ซึ่งกล้ามเนื้อนี้จะให้พลังมาก แต่ในระยะสั้นๆ

ขณะที่นักวิ่งระยะไกลไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่มาก เนื่องจากต้องแบกน้ำหนักตัวเป็นระยะเวลานาน ควรมีรูปร่างผอมบาง มีกล้ามเนื้อแขนและขาที่เล็กแต่แข็งแกร่ง เช่นเดียวกับมวลกระดูกที่ต้องแข็งแรง และวิ่งได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน

ตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา จำแนกความสามารถที่จำเป็นต้องฝึกเพื่อการแข่งขันออกเป็น 3 ด้าน คือ พลัง , ความเร็ว และ ความทนทาน ความสัมพันธ์นี้จะเป็นสามเหลี่ยมซึ่งขัดแย้งกัน ชี้ให้เห็นว่าเราไม่สามารถพัฒนานักกีฬาที่มีความเป็นเลิศได้ทั้งสามด้านในคนๆเดียว จะเห็นว่านักวิ่งระยะสั้น จะอยู่ใกล้จุดพลัง ขณะที่ระยะไกลจะอยู่ใกล้จุดความทนทาน หมายความว่านักวิ่งระยะสั้นจะเน้นการใช้พลัง ขณะที่นักวิ่งระยะไกลจะเน้นใช้ความทนทานของร่างกาย

นอกจากโครงสร้างกล้ามเนื้อที่เหมาะกับนักวิ่งในแต่ละประเภทแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องโภชนา,การการฝึกซ้อม และระเบียบวินัย ซึ่งในโอลิมปิก 2016 และ 2020 สมาคมกรีฑาคาดหวังว่าวิ่ง 4x100 เมตร ชายหญิง, วิ่ง 4x400 เมตรชาย และมาราธอน 10,000 เมตร ชายจะสามารถผ่านการควอลิฟาย เข้าไปแข่งขันรอบสุดท้ายได้อย่างแน่นอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง