กบอ.ยันเดินหน้าประมูลโครงการจัดการน้ำ

เศรษฐกิจ
29 เม.ย. 56
04:16
71
Logo Thai PBS
 กบอ.ยันเดินหน้าประมูลโครงการจัดการน้ำ

ประธาน กบอ. ยืนยัน เดินหน้าประมูลราคาทีโออาร์การบริหารน้ำในวันที่ 3 พ.ค.2556 แม้เครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนการจัดการน้ำ กบอ. เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านแผนการจัดการน้ำต่อนายกรัฐมนตรี และยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อระงับการประมูลโครงการทีโออาร์การบริหารจัดการน้ำชั่วคราว

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธินาคะเสถียร กล่าวในงานสัมมนา ฝ่าทุจริต เวนคืน กินตามน้ำ 350,000 ล้านบาท บวก 2 00,000 ล้านบาท ว่าในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.) เครือข่ายภาคประชาชน จะยื่นหนังสือคัดโครงการทีโออาร์การบริหารจัดการน้ำ ต่อนายกรัฐมนตรี และศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับการประมูล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.2556

จากการศึกษารายละเอียดทีโออาร์การบริหารจัดการทั้งหมดพบว่า แต่ละโครงการ ไม่ได้ดำเนินตามกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่าผิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ , ไม่มีขอบเขตงาน ขาดรายละเอียดเชิงพื้นที่  ขาดความชัดเจนขององค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบ  การดำเนินงานบางโมดูล ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทำให้เสียงบประมาณซ้ำซ้อน มีการย้ายงบประมาณบางส่วนไปใช้ดำเนินงานโครงการอื่น นำไปสู่ช่องทางการทุจริต  และขาดการพิจารณาแบบบูรณาการที่ดี

นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้เหตุผลการยื่นฟ้องครั้งนี้ว่า การประมูลซึ่งมีขึ้นวันที่ 3 พ.ค.2556  มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น เพราะส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น และไม่สามารถบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแท้จริง

โดยตั้งข้อสังเกตว่าการที่ กบอ. ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 350,000  ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และเร่งผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้น ได้วางข้อกำหนดและขอบเขตงานทีโออาร์ ให้มีข้อกำหนดเฉพาะงานคล้ายคลึงกัน เช่น โมดูล A1 A5 B1 B3 และ โมดูล A6 B4

ในขณะที่หลายฝ่ายจะออกมายื่นหนังสือคัดค้านให้ระงับการประมูลการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ยังยืนยันว่า จะเดินหน้าประมูลราคาผู้รับจ้างต่อไป เพราะหากไม่เริ่มการก่อสร้างตามกำหนด บริษัทผู้รับจ้างอาจฟ้องรัฐบาลได้

ก่อนหน้านี้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้า ได้ศึกษาแผนการจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุว่า รัฐบาลอาจไม่ต้องสร้างทุกโครงการ แต่บริหารจัดการน้ำ 2 เขื่อนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้รัฐบาล ประหยัดงบประมาณได้ ร้อยละ 70 หรือ ใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง