เขียนบท "ใส่ความเป็นมนุษย์" เทคนิคใหม่ในสารคดีสัตว์

ศิลปะ-บันเทิง
30 เม.ย. 56
15:08
1,604
Logo Thai PBS
เขียนบท "ใส่ความเป็นมนุษย์" เทคนิคใหม่ในสารคดีสัตว์

นอกจากเทคนิคการถ่ายทำที่พัฒนาขึ้น กลวิธีที่ทำให้สารคดีชีวิตสัตว์น่าติดตามยิ่งขึ้นคือการเขียนบทให้สัตว์ในเรื่องมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับมนุษย์ แต่วิธีการดังกล่าวไม่ต่างจากการสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้ชมเชื่อว่าพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์

ออสการ์ ลูกชิมแปนซีต้องถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยว หลังสูญเสียแม่จากการต่อสู้กับฝูงชิมแปนซีคู่อริ แม้ไม่มีแม่ชิมแปนซีตัวไหนเหลียวแล แต่ เฟรดดี้ จ่าฝูงตัวผู้กลับเลี้ยงดูออสการ์เหมือนลูกในใส้ และช่วยปกป้องจาก สการ์ ชิมแปนซีที่เคยพรากแม่ของมันไป เรื่องราวความผูกพันของสัตว์ที่เล่าเรื่องไม่ต่างจากนิยาย คือผลงานล่าสุดของ Disneynature

การบรรยายชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ ด้วยการใส่ความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ เพื่อให้เนื้อหาน่าติดตาม เคยเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างแอนิเมชั่นของ วอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งวันนี้กลายเป็นรูปแบบการบรรยายสารคดีชีวิตสัตว์โลกของ Disneynature และยังปลุกกระแสให้ National Geographic, Discovery และ Imax หันมาสร้างสารคดีชีวิตสัตว์ให้คล้ายกับการบรรยายชีวิตคน โดยใช้เสียงพากย์ของนักแสดงและคนดังเพื่อให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับเนื้อหายิ่งขึ้น

   

การนำชีวิตสัตว์มาถ่ายทอดเพื่อความบันเทิง เริ่มมาตั้งแต่สมัย วิลเลียม ดักลาส เบอร์เดน นักผจญภัยชาวสหรัฐฯ เดินทางไปถ่ายทำสารคดีชีวิตมังกรโคโมโดในอินโดนิเซียเมื่อปี 1926 ซึ่งภาพสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ 2 ตัวกำลังกินซากหมูป่าสร้างความตื่นตาในยุคนั้น หากความเป็นจริงภาพทั้งหมดเกิดจากการตัดต่อ โดยมังกรโคโมโดทั้ง 2 ตัวใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรงขังและเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

บ่อยครั้งที่ผู้สร้างสารคดียอมบิดเบือนความจริงเพื่อขายเนื้อหา ทั้ง African Cats ที่เล่าการต่อสู้ของแม่เสือชีต้าที่ต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อดูแลลูกๆ ทั้ง 5ตัว แม้ความจริงเสือชีต้าตัวเมียมักล่าเหยื่อโดยลำพัง ใน Crimson Wingบรรยายการล่าเหยื่อตามธรรมชาติของหมาในและนกกระสาไม่ต่างจากสิ่งชั่วร้ายของแม่มด รวมถึงกรณีอื้อฉาวของ White Wilderness สารคดีรางวัลออสการ์ปี 1958 ที่เสนอภาพการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายของตัวเลมมิ่ง ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นฝีมือของทีมงานที่ต้อนให้ฝูงเลมมิ่งตกทะเล เพื่อให้ภาพสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องการฆ่าตัวตายหมู่ระหว่างอพยพของตัวเลมมิ่ง หรือกรณีที่กลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมยกให้เพนกวินจักรพรรดิใน March of the Penguinsเป็นตัวแทนคุณธรรมของพระเจ้า จากพฤติกรรมซื่อสัตย์ต่อคู่ครองและดูแลลูกเพนกวินที่ไม่ใช่ลูกของตน ซึ่งความจริงแล้วอัตราการเปลี่ยนคู่ของเพนกวินจักรพรรดิสูงถึงร้อยละ 80 ถึง 90 และยังมีพฤติกรรมลักขโมยลูกเพนกวินของตัวอื่นและพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน

   

มีผู้สร้างสารคดีไม่น้อยนำผลเสียของมนุษย์ที่ต้องการใส่ความเป็นคนให้กับสัตว์ ทั้งProject Nim ความล้มเหลวของการนำลูกชิมแปนซีมาเลี้ยงและสอนให้เข้าใจภาษาคน, Grizzly Man จุดจบอันน่าเศร้าของชายผู้รักและอาศัยร่วมกับหมี ก่อนจะถูกพวกมันรุมสังหารจนตาย หรือ Blackfish ที่เจาะลึกพฤติกรรมดุร้ายของวาฬเพชฌฆาตที่ถูกเลี้ยงในสวนน้ำ ที่ก่อเหตุฆ่าครูฝึกเพราะความเคลียดจากการถูกบังคับให้ออกแสดง ซึ่งย้ำว่าธรรมชาติของสัตว์ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจด้วยการใช้ความรู้สึกของมนุษย์เป็นที่ตั้ง


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง