"ผู้นำฝ่ายค้าน" แนะรัฐใช้เกมรุกเจรจา "บีอาร์เอ็น"

การเมือง
1 พ.ค. 56
04:46
76
Logo Thai PBS
"ผู้นำฝ่ายค้าน" แนะรัฐใช้เกมรุกเจรจา "บีอาร์เอ็น"

หลังการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น มีการออกมาแสดงความเห็นและแนวทางในการเจรจาพูดคุยอย่างต่อเนื่อง โดยหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน แนะนำให้ไทยใช้เกมรุกในการเจรจา ขณะที่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า การพูดคุยรอบที่ 2 ฝ่ายไทยไม่ได้เพลี่ยงพล้ำ และจะเดินหน้าแนวทางการเจรจาต่อไป เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี

นอกจากนี้ การเจรจายังมีกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีส่วนที่สัมพันธ์และสามารถสื่อสารกับกลุ่มอาร์เคเคที่ปฏิบัติการในพื้นที่มาร่วมพูดคุยด้วย สำหรับข้อเสนอของแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่เสนอผ่านเว็บไซต์ยูทูบ 5 ข้อนั้น ทางบีอาร์เอ็น ระบุว่า มาจากการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการให้มาพูดคุยกัน ซึ่งทางฝ่ายไทยก็รับฟังและจะนำไปสืบสภาพอีกครั้ง

แต่ข้อเสนอของไทยยังยึดหลักการลดเหตุความรุนแรง โดยได้ขอให้งดการปฏิบัติการก่อเหตุลง ซึ่งฝ่ายคู่หารือรับไว้ พร้อมกับยืนยันว่าได้นำไปสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติการทั้งหมด ซึ่งต้องรอดูผลและปฏิกิริยาหลังจากนี้ไปจนถึงการพูดคุยครั้งหน้า พร้อมกับรับข้อเสนอของเขามาพิจารณาอีกครั้ง โดยต้องนำมาหารือกันในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต.

ด้านพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา ศปก.กปต. เปิดเผยถึง การพูดคุยสันติภาพว่า ต้องมีการพูดคุยกับทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกลุ่มอื่นขอเข้าร่วมพูดคุยด้วยส่วนข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ของบีอาร์เอ็นผ่านยูทูบ เห็นว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญไทย และไม่สอดคล้องกับการลงนามพูดคุยกันในครั้งแรก อีกทั้งการออกมาเผยแพร่คลิปในยูทูบก่อนการพูดคุยนั้น ถือเป็นการเสียมารยาท ซึ่งหลังจากนี้ เสนอให้มีการปรับกลยุทธ์ในการพูดคุย โดยให้มีมืออาชีพในการต่อรองการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ซึ่งควรจะมีการจัดตั้งกลุ่มเล็กขึ้นมาพูดคุยในทางลับอย่างต่อเนื่องด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องจับตาดูหลังจากนี้ว่าการพูดคุย จะสามารถลดความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ดังนั้นต้องดูกันอีกครั้งในวันที่ 13 มิ.ย.ที่จะมีการเจรจากันอีกรอบ ส่วนการยกระดับเรื่องนี้ขึ้นสู่เวทีโลกก็อยู่ที่การปฏิบัติของไทย ซึ่งคิดว่าหากเหตุการณ์ในพื้นที่ยังมีความรุนแรง อาจจะเป็นทีของฝ่ายไทยที่จะต้องรุกมากขึ้นในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง