กวป.ชุมนุมถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อเนื่อง นัดยกระดับใหญ่ 8พ.ค.

การเมือง
2 พ.ค. 56
04:20
65
Logo Thai PBS
กวป.ชุมนุมถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อเนื่อง นัดยกระดับใหญ่ 8พ.ค.

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องที่ยังค้างอยู่ หลังงดประชุมในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยการประชุมเมื่อวานนี้ ไม่มีการพิจารณาคำร้องกรณีพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เลื่อนออกไปพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า ส่วนคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กรณีขอให้วินิจฉัยเรื่องสมาชิกรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเข้าข่ายกระทำการขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้มีมติ 5 ต่อ 3 มีคำสั่งรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ด้านกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.เตรียมยกระดับการชุมนุมขับไล่ ด้วยการรวบรวมรายชื่อทำการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาในวันที่ 8 พ.ค.นี้

หลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาคำร้อง โดยใช้เวลาประชุม 6 ชั่วโมง ในการพิจารณา 4 คำร้อง นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กรณีคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส. และส.ว. รวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการตัดสินของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายหลังได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยจากการพิจารณาที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 มีคำสั่ง รับไว้เป็นคำร้อง โดยศาลเห็นว่า คำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ. 2550 และเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสิทธิประชาชนผู้ทราบการกระทำ ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือเพียงสิทธิยื่นเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำ ที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68

ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ปรากฏมูลอันเป็นเหตุฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง เพื่อให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ

นอกจากนี้ ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณากรณีที่ ส.ส. และส.ว. ทั้ง 312 คน ไม่ได้รับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตามที่ศาลได้รับคำร้องของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ไว้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญซึ่ง ถือได้ว่าได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องโดยชอบแล้ว ศาลสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้

แต่ในกรณีนี้ ทาง ส.ว. 46 คน ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลาในการยื่นคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหา และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ หากไม่ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าไม่ติดใจ

นายพิมล ยังเปิดเผยด้วยว่า คณะตุลาการไม่ได้มีการพูดคุยถึงการชุมนุมกดดันให้ตุลาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ ของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ได้พูดคุยถึงกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว.จำนวนหนึ่งมีมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยิ่งได้มีการพิจารณาคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส. 134 คน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 91 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ ป็นนายทหารกองหนุน

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาคำร้องดังกล่าวออกไป ในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่

ด้านกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ที่คัดค้านอำนาจหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 10 โดยแกนนำกลุ่ม กวป. กล่าวว่า ถ้าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ลาออกจากตำแหน่ง ทางกลุ่มจะยกระดับการชุมนุมขับไล่ ด้วยการรวบรวมรายชื่อทำการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง