เปิดรายงาน"ผืนป่าลดลง" สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนสร้างพื้นที่สีเขียวใน "อนุภาคลุ่มน้ำโขง"

Logo Thai PBS
 เปิดรายงาน"ผืนป่าลดลง" สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนสร้างพื้นที่สีเขียวใน "อนุภาคลุ่มน้ำโขง"

อนุภาคลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่าหนึ่งในสามภายในสองทศวรรษ หากรัฐบาลในอนุภาคนี้ไม่สามารถเพิ่มการปกป้อง ให้คุณค่า และฟื้นทุนธรรมชาติ รวมทั้งเปิดรับการเติบโตสีเขียว มีคำเตือนในรายงานฉบับใหม่ของ WWF

  การวิเคราะห์ของ WWF เผยให้เห็นถึงพื้นที่ป่าธรรมชาติในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอยู่ราว 637 ล้านเฮคเตอร์ (3,981,250,000 ไร่)  หรือเกินครึ่งหนึ่งของที่ดินทั่วอนุภาคอยู่เล็กน้อย แต่คาดว่าจะสูญเสียพื้นที่ป่าไปอย่างรวดเร็ว หากอัตราการทำลายป่ายังคงอยู่ในระดับนี้ ระหว่างปี 2516 ถึง 2552 ประเทศทั้ง 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงสูญเสียพื้นที่ป่าไปราวๆหนึ่งในสามของผืนป่าที่เหลือทั้งหมด ในช่วงเวลาดังกล่าว กัมพูชาเสียพื้นที่ป่าไปร้อยละ 22 ของพื้นที่ป่าที่บันทึกไว้ได้ในปี 2516 ลาวและพม่าสูญเสียป่าไปร้อยละ 24 ส่วนไทย และเวียดนามสูญเสียป่าไปร้อยละ 42  

 
ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ที่เชื่อมต่อกับป่าผืนหลักก็ลดลงอย่างมากทั่วภูมิภาค จากร้อยละ 70 ในปี 2516 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2552 ป่าผืนหลักคือพื้นที่ป่าอย่างน้อย 3.2 ตารางกิโลเมตรที่ไม่ถูกรบกวน แต่หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ WWF คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 อนุภาคลุ่มน้ำโขงจะมีพื้นที่ป่าที่ให้ที่อาศัย และให้ประชากรสัตว์ป่าหลากหลายดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนเหลือ เพียงร้อยละ 14
 
นายปีเตอร์ คัทเตอร์ ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์ภูมิประเทศ WWF อนุภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังอยู่บนทางแยก ทางหนึ่งนำไปสู่การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิต แต่หากมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิด ชอบแล้ว ภูมิภาคนี้จะสามารถเดินสู่หนทางที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์และอนาคตที่มั่งคั่งให้แก่ประชาชนของพวกเขา
 
จากรายงาน "ระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำโขง : อดีตที่ผ่านมา สถานะปัจจุบัน และอนาคตที่จะเป็นไป" มีการวิเคราะห์ถึงสถานะในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคตของป่าผืนสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งระบบนิเวศน้ำจืด รวมถึงสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ ที่อาศัยในระบบนิเวศนั้น
 
ในรายงานเสนอภาพความน่าจะเป็นของระบบนิเวศในภูมิภาค 2 รูปแบบ รูปแบบหนึ่งเป็นความคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2573 ภายใต้แบบจำลองการเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ในกรณีที่การทำลายป่าและความเสื่อมโทรมตลอดทศวรรษที่ผ่านมายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่วนความเป็นไปได้อีกรูปแบบหนึ่งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าอัตราการตัดไม้ลดลงร้อยละ 50 และให้มีอนาคตที่มีพื้นฐานการเติบโตสีเขียว ภายใต้การคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบเศรษฐกิจสีเขียว ป่าผืนหลักที่มีอยู่ในปี 2552 ทั่วทั้ง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง จะยังคงอยู่เช่นเดิม
 
 
 
คัทเตอร์กล่าวว่า วิถีแห่งเศรษฐกิจสีเขียวเป็นทางเลือกทางรอดในอนาคตสำหรับลุ่มน้ำโขง ผู้นำในภูมิภาคได้ให้คำมั่นแล้วว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งนั้น ไปด้วยกันกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์และให้ประโยชน์ แต่ตอนนี้จำเป็นจะ ต้องมีการตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างถาวร?
 
"เขตอนุรักษ์หลายแห่งเป็นแค่ชื่อกระทั่งเขตอนุรักษ์ที่มีการดูแลค่อนข้างดียังตกอยู่ภายใต้การคุกคาม จากกลุ่มลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้ ส่วนเขตอนุรักษ์อื่นๆก็ถูกปรับลดพื้นที่โดยรัฐบาลที่กระตือรือร้นให้สัมปทานกับบริษัทเหมือง แร่หรือเจ้าของกิจการเพาะปลูกเพื่อเงิน"
 
รายงานให้น้ำหนักกับโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในฐานะปัจจัยคุกคามหลักต่อความสมบูรณ์และการใช้ประโยชน์ จากลุ่มน้ำโขงและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ลำน้ำโขงเป็นที่มาของระบบนิเวศน้ำจืดที่โดดเด่นแต่เชื่อมโยงกัน 13 ระบบ แต่โครงการที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างโครงการไซยะบุรีจะตัดขาดแม่น้ำโขงตอนล่างจากลำน้ำสายหลัก ปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาและการไหลของตะกอนแม่น้ำ ซึ่งจะสร้างผลกระทบที่เป็นหายนะต่อวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชากร 60 ล้านคน
 
รายงานยังแสดงรายละเอียดการลดลงจำนวนมากของสัตว์สัญลักษณ์หลายสายพันธุ์ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเสือ ช้างเอเชีย โลมาอิรวดี และสัตว์ประจำถิ่น ความอยู่รอดของสัตว์หลายสายพันธุ์นี้ในลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นอยู่กับระบบการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงปี 2513 เป็นต้นมาจะมีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่หลายแห่งก็มีการบริหารจัดการที่ไม่ดีนัก
 
แม้จะมีการจดบันทึกความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และในรายงานยังเน้นให้เห็นว่า พื้นที่นี้ยังคงมี ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และให้มูลค่านิเวศบริการสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ และเส้นใย ความร่ำรวยทางธรรมชาติในแถบลุ่มน้ำโขงนั้น มอบโอกาสสำคัญแก่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และ WWF เชื่อว่า การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม.
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง