เงินบาทแข็งค่า กระทบส่งออกข้าวไทย

เศรษฐกิจ
4 พ.ค. 56
14:05
168
Logo Thai PBS
เงินบาทแข็งค่า กระทบส่งออกข้าวไทย

เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า เป็นปัจจัยซ้ำเติมทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลง และผู้ประกอบการบางรายต้องหยุดซื้อขายชั่วคราว ซึ่งหากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น การส่งออกปีนี้อาจเหลือเพียงแค่ 6 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

เงินบาทแข็งค่าถึง 28 บาท 56 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 6 ภายในเวลาเพียง 3 เดือน กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ซ้ำเติมตลาดส่งออกข้าวไทย หลังการส่งออกข้าวของไทยที่เคยครองอันดับหนึ่งการส่งออก แต่ต้องหล่นลงมาอยู่อันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว จากราคาข้าวที่สูงกว่าคู่แข่ง เพราะนโยบายรับจำนำ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การแข็งค่าของเงินในทุก 1 บาท ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นตันละ 600 - 1,350 บาท ผู้ส่งออกบางรายต้องหยุดซื้อขายข้าวกับต่างประเทศชั่วคราว เนื่องจากไม่สามารถตั้งราคาได้

ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าว ได้หันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวอย่างถาวร ดังนั้นรัฐบาลต้องลดราคาข้าวให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก หากค่าเงินบาทยังเป็นเช่นนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่า หากเงินบาทยังคงแข็งค่า โดยไม่มีมาตรการแก้ไขชัดเจน ก็เป็นไปว่าการส่งออกข้าวปีนี้อาจเหลือเพียง 6 ล้านตัน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6,500,000 ตัน

นโยบายรับจำนำข้าวและเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ปริมาณส่งออกข้าว 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นปริมาณเพียง 1,800,000 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 12 เฉพาะเมษายนเดือนเดียว ไทยส่งออกได้เพียง 290,000 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 440,000 ตัน และคาดว่าช่วงที่เหลืออีก 8 เดือน ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 4,000,000 ตัน ทำให้ทั้งปี ไทยจะส่งออกได้เพียง 6,000,000 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 6,900,000 ตัน และต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ 8,500,000 ตัน

ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ไทยอาจกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกได้อีกครั้ง หากส่งออกข้าวตามเป้าหมายที่ 8,000,000 ตัน แต่สถานการณ์เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ประกอบกับไทยยังคงดำเนินนโยบายจำนำข้าว ผู้ส่งออกข้าวเชื่อว่า อาจทำให้ไทยพลาดหวังที่จะกลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ในปีนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง