"กุหลาบ สายประดิษฐ์" กับบทบาทสำคัญในการพัฒนานวนิยายไทย

Logo Thai PBS
"กุหลาบ สายประดิษฐ์" กับบทบาทสำคัญในการพัฒนานวนิยายไทย

ทุกปีในวันนักเขียน จะมีพิธีมอบรางวัลศรีบูรพาให้กับศิลปิน นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานทรงคุณค่า และมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ชื่อของรางวัลนี้เป็นนามปากกาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ที่ยึดถือในอุดมการณ์ และเป็นนักเขียนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวนิยายไทย จากความสนใจในวรรณกรรมเพื่อชีวิตของต่างชาติ

"โรงเก็บรถยนต์หรือโรงม้าของท่านพวกผู้ลากมากดี ขยับจะน่าอยู่กว่าบ้านของนายระพินทร์ ยุทธศิลปไปเสียอีก ดูไปดูมา อ้ายคนอย่างเราจะมีค่าน้อยกว่ารถยนต์หรือม้าเป็นไหนๆ" คำตัดพ้อของคนจนใน สงครามชีวิต สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และเป็นสิ่งที่นักเขียนอย่าง ศรีบูรพา เรียกร้องสำนึกทางมนุษยธรรมต่อผู้ยากไร้ในสังคมมาตลอด  เค้าโครงเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Poor People วรรณกรรมแจ้งเกิดฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ชาวรัสเซีย แม้โด่งดังมาก่อนถึงกว่า 80 ปี แต่การหยิบมาถ่ายทอดในบริบทสังคมไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือหนึ่งในก้าวสำคัญของนวนิยายไทย ที่เริ่มมีเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

ชมัยภร แสงกระจ่าง นักวิจารณ์วรรณกรรม สิ่งที่สงครามชีวิตให้กับนิยายไทยก็คือการเปลี่ยนเรื่องโรแมนติกพาฝันให้เป็นเรื่องรักที่สะท้อนสังคม

แม้มีวรรณกรรมประโลมโลกมากมาย แต่ผลงานที่ศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ จะหยิบมาแปลนั้น ก็มักจะเป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เช่น "แม่" จากเรื่อง Mother ของแมกซิม กอร์กี้ หรือ "เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร" ของ Kenncally รสนิยมและอุดมคติอย่างเดียวกันยังอยู่ในความยึดมั่นของ ชนิด สายประดิษฐ์ คู่ชีวิตนักแปล เห็นได้จากการหยิบงานของวิกเตอร์ อูโก้ เรื่อง Les Miserables มาแปลในชื่อ "เหยื่ออธรรม" สะท้อนความทุกข์ยากของคนจน // ไปจนถึงผลงานรวมวรรณกรรมแปลเรื่องสั้นของทั้งคู่ชื่อ "ในยามถูก
ชมัยภร แสงกระจ่าง นักวิจารณ์วรรณกรรม  มันเป็นความชอบของคนทั้งคู่ ที่จะเขียนวรรณกรรมคำนึงถึงบ้านเมือง มีส่วนเสริมกันและกัน

   

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้ใกล้ชิดครอบครัว "สายประดิษฐ์" คนอาจจะคิดว่าเรื่องที่เขียนเป็นคนอุดมคติ แต่ครอบครัวนี้แสดงให้เห็นจริงๆ ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างนั้น

ตั้งแต่เริ่มเส้นทางอาชีพนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปรับเชิญไปศึกษางานในต่างประเทศบ่อยครั้ง ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และโซเวียต โดยในแต่ละครั้งก็ได้เก็บสิ่งที่พบเห็นมากลั่นเป็นผลงาน เช่นการไปออสเตรเลีย 2 ปี ที่มีบันทึกประสบการณ์ในชื่อ "ข้าพเจ้าได้เห็นมา" ตลอดจนซึมซับแนวคิดการทำเพื่อผู้อื่น มาเขียนเป็นนิยายเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" หากการเยือนประเทศจีนและไม่ได้หวนคืนบ้านเกิดอีกเลยใน 16 ปีสุดท้ายของชีวิต ก็ทำให้ประวัติด้านงานวรรณกรรมของศรีบูรพาขาดตอนจบไปอย่างน่าเสียดาย

ศรีบูรพาเป็นหนึ่งในนักเขียนที่สร้างคุณูปการให้กับวงการวรรณกรรมไทย ในวันนี้ซึ่งเป็นวันนักเขียนก็จะมีการมอบรางวัลศรีบูรพาให้กับนักคิดนักเขียนรุ่นหลังด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง