เปิดข้อสังเกต "ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง" ของ "เฉลิม" เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

5 พ.ค. 56
15:33
120
Logo Thai PBS
เปิดข้อสังเกต "ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง" ของ "เฉลิม" เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ที่จะเปิดราวเดือนสิงหาคม จะพิจารณาวาระแรก ว่าด้วยร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งล่าสุด รวมแล้วมีถึง 8 ฉบับ แต่ร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กลับถูกตั้งข้อสังเกตต่อการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่ม และเอื้อต่อการพ้นผิดในคดีอาญาและคดีตามมาตรา 112 ขณะที่อดีตกรรมการ คอป. สะท้อนมุมที่เคยนำเสนอแนวทางการนิรโทษกรรม แต่รัฐบาลปฏิเสธตอบสนองนำไปปฏิบัติ โดยย้ำหากที่สุดจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นไม่ควรเร่งรีบ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางสร้างความปรองดองในสังคมอย่างแท้จริง

กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรมเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนกำหนดพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนทันทีเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ราวเดือนสิงหาคม ทั้งพรรคเพื่อไทย และ นปช.ที่จัดเวทีคู่ขนานชี้ให้เห็นผลการนิรโทษกรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่อธิบายข้อเท็จจริงในทางตรงข้ามว่าเอื้อต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

โดยเฉพาะการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอล่าสุด โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ เนื้อหาที่รวมสาระของร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และกฎหมายปรองดองหลายฉบับ โดยให้ยกโทษความผิดในทุกกรณีจากเหตุชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงการประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้

ดังนั้น การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน 2549 และหลังรัฐบาลสลายการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน กลุ่มบุคคล และกลุ่มการเมือง ที่เคยเคลื่อนไหว และมีความผิดในคดีอาญา และคดีตามมาตรา 112 ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะหลักการตามร่างกฎหมายของร.ต.อ.เอกเฉลิม หวังให้เป็นล้างการกระทำผิดทางการเมืองให้ทุกคนทุกฝ่าย แล้วกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ และกระบวนการหลังการนิรโทษกรรมแล้ว จะต้องมีกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งท้ายสุดของร่างกฎหมายระบุว่า เมื่อออกเป็นพระราชบัญญัติแล้ว จะถือว่า เป็นการแก้ไขปัญหาครั้งเดียวแบบเบ็ดเสร็จและถูกจุด ซึ่งไม่ต้องออกกฎหมายหลายครั้ง

อดีตคณะกรรมการคอป. มองว่า ครั้งหนึ่ง คอป. เคยเสนอถึงแนวทางการสร้างความปรองดองต่อรัฐบาล หากจะขับเคลื่อนการนิรโทษกรรมอย่ากระทำโดยเร่งรีบ และต้องทำอย่างมีเงื่อนไข ชัดเจน เพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง

และแม้จะหมดหน้าที่คอป.แล้ว แต่ นายสมชาย ในฐานะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล และรัฐสภา ให้ทันก่อนเปิดสมัยประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและร่างกฎหมายปรองดอง ค้างอยู่ในสภาฯ 6 ฉบับ และล่าสุดที่สภาฯ เห็นชอบเลื่อนขึ้นมาเป็นวาระแรกของการประชุมสมัยหน้า คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯของนายนิยม วรปัญญา เข้าไปประกบอีกฉบับ และหากรวมร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯของร.ต.อ.เฉลิม และอีกหนึ่งร่างของนายขจิต ชัยนิคม ก็จะเท่ากับว่า สภาฯ จะมีร่างให้พิจารณารวมกันเป็นจำนวน 8 ฉบับ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง