เรียนรู้ทุกข์สุขผ่านเรื่องราวของ "ความสุขของกะทิ"

Logo Thai PBS
เรียนรู้ทุกข์สุขผ่านเรื่องราวของ "ความสุขของกะทิ"

งาน 35 ปีซีไรท์ จัดกิจกรรมเสวนาจากวรรณกรรมครั้งนี้ ชวนไปเปิดเล่มเยาวชน เรียนรู้ทุกข์สุขของกะทิ

แม้จะเติบโตมากับตาและยายที่ดูแลไม่เคยห่าง แต่ไม่อาจทดแทนความอบอุ่นจากพ่อและแม่ได้ กะทิ เด็กหญิงผู้มีคำถามในหัวใจถึงแม่ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจากคนรอบข้าง แม้ได้พบกันในวันที่สายไปเพราะแม่ป่วยหนัก แต่ความเข้มแข็งในหัวใจทำให้กะทิเปลี่ยนจากความเศร้าหมอง ให้เกิดเป็นความสุขจากมุมมองเล็กๆ  นักอ่านคงคุ้นกันดีกับเรื่องราวของกะทิ ตัวละครที่มีชีวิตของงามพรรณ เวชชาชีวะ จากนวนิยายเรื่องสั้น ความสุขของกะทิที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2549 ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2552  

ซึ่งนำแง่คิดผ่านตัวละครมาแลกเปลี่ยนกัน แต่เวทีเสวนาสุขหรือทุกข์ของกะทิ วิเคราะห์อุปนิสัยของตัวละครเด็กหญิงวัยเพียง 9 ปี ที่สู้ชีวิตด้วยใจไม่ท้อ เพราะได้กำลังใจจากคนรอบข้าง และหัดคิดในแง่บวก อีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานนิทรรศการ 35 ปีซีไรท์  ที่นำวรรณกรรมคุณภาพเรื่องนี้มาพูดคุย หาแง่มุมที่ผู้อ่านสามารถนำมาปรับใช้ และเป็นกำลังใจได้ในชีวิตจริง 

งามพรรณ เวชชาชีวะ  ผู้เขียน "ความสุขของกะทิ" เปิดเผยว่า เมื่ออ่านแล้ว รู้สึกจะคิดต่างได้ว่าจริงๆ แล้วอะไรบ้างที่เป็นตัวตัดสิน คนที่มีทุกอย่างพร้อมควรจะเรียกว่ามีความสุข ถ้าเกิดว่าเรามีไม่พร้อมแล้วจะมีความสุขได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นคำว่าทุกข์และคำว่า สุขของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปค่ะ อยู่ที่ว่าจะจัดการกับชีวิตอย่างไร และเลือกมองชีวิตมุมไหน
 
ด้านเจนไวยย์ ทองดีนอก  ผู้กำกับภาพยนตร์ "ความสุขของกะทิ" กล่าวว่า ผมมองว่าความสุขของกะทิเป็นหนังสือที่มีความสะอาดสะอ้าน เป็นหนังสือที่พูดถึงความสุขของเด็กคนหนึ่งที่ได้มาจากคนในครอบครัว แม้จะมีความทุกข์จากความสูญเสีย แต่เป็นเรื่องที่สอนใจให้กับคนที่สนใจเรื่องราวที่จะเติมความสุขในกับชีวิต

การถ่ายทอดให้เห็นถึงสัจธรรมความไม่เที่ยงแท้ในชีวิต เป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้ ความสุขของกะทิ ได้รับความนิยมจนถูกตีพิมพ์มาแล้ว 86 ครั้ง รวมถึงยังถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปแปลภาษาถึง 10 ประเทศ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในมุมมองของนักเขียนและวงการวรรณกรรม แต่หากมองในมุมของภาพยนตร์ที่ทำรายได้เพียง 10 กว่าล้านบาท ที่ผู้กำกับออกปากว่าคุ้มทุนนั้น ไม่ใช่ความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าร่วมวงเสวนายังเสียดายที่วรรณกรรมดีๆ อีกหลายเรื่องไม่ได้รับการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เพราะถูกจำกัดด้วยเรื่องของการตลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง