ศิลปะผ่านน้ำยางพารา ใน"นิทรรศการ Time Remapping"

Logo Thai PBS
ศิลปะผ่านน้ำยางพารา ใน"นิทรรศการ Time Remapping"

จากน้ำยางพาราที่หยดลงถ้วย เป็นจุดเริ่มต้นของงานศิลปะบนพื้นกระจกใสที่เกิดจากหยดน้ำยางของต้นลีลาวดี ผลงานของ 2 ศิลปินไทยและญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ส่งต่อแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สัมผัสได้ระหว่างการทำงาน

กรีดยางจากกิ่งก้านของลีลาวดีต้นใหญ่ที่ติดตั้งมอเตอร์ให้หมุนได้รอบตัว แล้วปล่อยให้น้ำยางหยดลงพื้นกระจกใส กลายเป็นงานศิลปะจากหยดน้ำสีขุ่นที่เรียงตัวเป็นวงกลมเว้นระยะห่างตามความเร็วของการหมุน แต่สิ่งที่ศิลปินควบคุมไม่ได้คือปริมาณน้ำยางและเวลาของการหยดลงพื้นที่ยกให้ธรรมชาติกำหนดเอง ผลลัพธ์แต่ละครั้งจึงต่างจากเดิม นี่เป็นผลงานร่วมของศิลปินไทย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ผู้ขึ้นชื่อเรื่องงานมัลติมีเดีย และ ศิลปินญี่ปุ่น  เรียวสุเกะ คิโดะ ประติมากรรุ่นใหม่ การทดลองครั้งนี้เกิดขึ้นหลังทั้งคู่ลงใต้ไปเรียนรู้วิธีทำสวนยางพารา แล้วเห็นถึงการเปลี่ยนยางพาราที่เคยแค่หยดลงถ้วย ให้เป็นงานศิลปะ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมลองทำ เพื่อบอกเล่ากระบวนการสร้างสรรค์ไปในตัว ในนิทรรศการ Time Remapping

ความสวยงามของรอยหยดน้ำยางบนกระจกจึงเกิดจากความบังเอิญของธรรมชาติร่วมกับการควบคุมของมนุษย์ หลังเขียนแบบร่าง ศิลปินใช้ลูกดิ่งทาบจากกิ่งไม้เพื่อหาจุดกรีดยางที่เหมาะสมและคำนวนรอบหมุน เพื่อให้ผลงานใกล้เคียงต้นแบบ ผสมผสานความถนัดของทั้งคู่ เมื่อเรียวสุเกะ ถนัดงานฝีมือและวิชญ์สนใจเรื่องกลไกเครื่องจักรกล การร่วมงานกับคนญี่ปุ่นได้เปลี่ยนวิชญ์ ให้ฝึกคิดแบบง่ายๆแต่เต็มร้อย  ต่างจากเมื่อก่อนที่วางแผนไว้เกินตัวแต่ทำจริงได้ไม่เต็มที่ Time Remapping จึงนับเป็นผลงานที่เรียบง่ายที่สุดของวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

ต้นลีลาวดีต้นเล็กต้นใหญ่หลายต้นต้องถูกตัดกิ่งก้าน ยิ่งสร้างความรู้สึกผิดต่อธรรมชาติให้ผู้ลงมือทำ เกิดเป็นคำถามให้ผู้ชมหาคำตอบว่า ทุกวันนี้มนุษย์เรากรีดยางต้นไม้ทำลายป่าเพื่อการพัฒนา แต่หากทำร้ายเพื่อสร้างงานศิลปะจรรโลงใจจะยังเรียกว่าทำลายอีกหรือไม่ นิทรรศการสื่อผสม Time Remapping จัดแสดงที่หนึ่งร้อยต้นสนแกลเลอรี่ ถึงวันที่ 16 มิ.ย.2556


ข่าวที่เกี่ยวข้อง