กระแสวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิยายดัง

Logo Thai PBS
กระแสวิจารณ์ภาพยนตร์จากนิยายดัง

ความสำเร็จทางรายได้ของหนังที่สร้างจากนิยายดัง ทำให้ผู้สร้างหลายคนหยิบนิยายดังมาทำหนัง แต่เกือบทุกเรื่องมักถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถสร้างผลงานเทียบเท่าคุณค่าที่อยู่ในวรรณกรรมได้

แม้ได้ดาราดังแห่งยุค โรเบิร์ต เรดฟอร์ด นำแสดง พร้อมมือดัดแปลงบทหน้าใหม่อย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และอนาคตดีไซเนอร์ดัง ราล์ป ลอว์เรน ร่วมออกแบบชุดแต่งกาย แต่การดัดแปลง The Great Gatsby ผลงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ เมื่อปี 1974 กลับถูกวิจารณ์ในแง่ลบว่าเน้นแต่ความอลังการของสังคมที่ฟุ้งเฟ้อในยุค 20 แต่ไม่สามารถถ่ายทอดคุณค่าที่อยู่ในวรรณกรรมไปสู่จอภาพยนตร์ได้ ซึ่งเป็นเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นกับ The Great Gatsby ทุกครั้งที่มีการดัดแปลงสู่จอใหญ่ เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นล่าสุดของผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์

แม้ปัจจุบันฮอลลีวูดจะประสบความสำเร็จกับรายได้ที่เกิดจากการดัดแปลงนิยายดังเป็นหนังใหญ่ แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับเสียงวิจารณ์ที่ย่ำแย่ต่อคุณภาพหนังที่เทียบไม่ได้กับความสมบูรณ์แบบที่เคยอยู่ในวรรณกรรม เนื่องจากเนื้อหาที่ซับซ้อนในหนังสือยากเกินกว่าจะถ่ายทอดเป็นรูปธรรมได้ในภาพยนตร์

ทอม เฮลเลอร์ จาก Everest Entertainment ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหนังจากนิยายดังเช่น Precious, 127 Hours และ Mud กล่าวว่าการเลือกตัวละครให้ใกล้เคียงกับคุณสมบัติในนิยายมากที่สุด เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง แต่การยึดติดกับงานต้นฉบับเกินไป จะทำลายเสน่ห์ของตัวหนัง ขณะที่ ศาสตราจารย์เลน คาสซูโต้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีอังกฤษ ยกย่องหนังที่ใช้ความสามารถของนักแสดงมากกว่าการใช้ศิลปะพรรณนาที่เคยอยู่ในหนังสือ เช่นเรื่อง The Remains of the Day ที่ แอนโธนี ฮอปกินส์ ถ่ายทอดความขับข้องใจผ่านสีหน้า โดยไม่ต้องพึ่งการบรรยายเหมือนในหนังสือ

ผู้สร้างหลายคนเลือกตัดทอนหัวใจสำคัญของเรื่อง เพื่อหลีกหนีการเปรียบเทียบกับต้นฉบับ เช่น The Grapes of Wrath หนังของ จอห์น ฟอร์ด ที่ลดเนื้อหาทางการเมืองและเปลี่ยนจุดจบของเรื่องให้เป็นหนังคาวบอยตะวันตกขึ้นหิ้ง และThe Natural หนังกีฬาเบสบอลที่เปลี่ยนตอนจบอันโศกเศร้าให้เป็นชัยชนะของตัวเอก รวมทั้งNo Country for Old Men ของพี่น้องโคเอน ที่ลดทอนฉากรุนแรงในเรื่อง และหันมาให้ความสำคัญการพัฒนาตัวละครในเรื่องจนคว้าออสการ์ได้เมื่อปี 2007

ด้านคารอล โฮฟเนอร์ นักเขียนบทเบื้องหลังหนังดัง ชี้ว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างหนังที่ประสบความสำเร็จจากการดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายดัง คือ การร่วมมือกันของทีมงานทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้เขียนบท  ผู้คัดตัวนักแสดง  ผู้กำกับ และผู้อำนวยการสร้าง ที่จะทำให้ผลงานที่ออกมาประสบความสำเร็จตามความคาดหวังของผู้ชมมากที่สุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง