ปัญหางบประมาณจัดการศึกษา ต่อนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

สังคม
11 พ.ค. 56
14:37
2,562
Logo Thai PBS
 ปัญหางบประมาณจัดการศึกษา ต่อนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก

การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านงบประมาณ ได้ถูกนำมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด โดยปีนี้ได้รับกว่า 460,000ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เป็นหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบฯ ถึง 290,000 ล้านบาท แต่จำนวนนักเรียนที่น้อยลง ส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่โรงเรียนจะได้รับ แต่หลายฝ่ายมองว่างบประมาณไม่ใช่เหตุผลสำคัญ แต่เกิดจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนหน้านี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุเหตุผลการยุบและควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน จำนวนกว่า 6,000 แห่ง เพราะขาดแคลนงบประมาณ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แต่ล่าสุดนายพงศ์เทพปฏิเสธไม่เกี่ยวกับงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอน

ขณะที่ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษาเห็นว่างบอุดหนุนรายหัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ ร.ร.ขนาดเล็ก ไม่สามารถพัฒนาด้านคุณภาพได้ แต่หากพิจารณางบประมาณในแต่ละปีจะพบว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้งบมากที่สุด โดยในปี 2556 ได้มากถึงกว่า 460,000 ล้านบาท

จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดงบประมาณจำนวนมากจึงไม่สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพ ร.ร.ขนาดเล็กได้ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ วิเคราะห์ว่า เกิดจากการบริหารจัดการงบฯ ที่ขาดประสิทธิภาพ โดย งบฯ ที่จัดสรรให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 290,000 ล้านบาท ที่ให้ความสำคัญกับรายจ่ายด้านบุคลากร ถึงร้อยละ 70 หรือกว่า 200,000ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถผลิตครู ให้เพียงพอได้ ขณะที่งบอุดหนุนการศึกษามีเพียง 43,000  ล้านบาท

หากพิจารณาจากงบอุดหนุนรายหัว ที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2552 ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินส่วนนี้ ดังนั้น ร.ร.ขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะได้งบอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีก 500 บา/คน/ปี

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย มองว่า การกล่าวอ้างด้านงบประมาณเพื่อยุบ ควบรวม ร.ร.ขนาดเล็กเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะปัญหาด้านคุณภาพ เกิดจากนโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำ

ขณะที่บางข้อเสนอ เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรปรับรูปแบบ ร.ร.ขนาดเล็ก เป็น ร.ร.ชุมชน และปรับรูปแบบการสนับสนุนเงินอุดหนุนใหม่ จะช่วยยกระดับด้านคุณภาพได้

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ข้อเสนอแนวทางพัฒนา ร.ร.ขนาดเล็ก จากภาคประชาสังคมจะไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีการเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ รับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างรอบด้าน หากคงยืนยันดำเนินการเรื่องนี้ อาจมีแนวทางรณรงค์ เคลื่อนไหวคัดค้านครั้งใหญ่ปลายเดือนพ.ค.2556
 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง