บอร์ดกระจายเสียง กสทช. เคาะวิธีประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องธุรกิจ ตั้งเป้าจบใน 1 ชั่วโมง

เศรษฐกิจ
14 พ.ค. 56
10:31
113
Logo Thai PBS
บอร์ดกระจายเสียง กสทช. เคาะวิธีประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องธุรกิจ ตั้งเป้าจบใน 1 ชั่วโมง

แบ่งกลุ่มประมูล 4 กลุ่ม ไม่พร้อมกัน วางเงิน 1 ล้านค่าซื้อซองต่อ 1 ช่อง ใบอนุญาตจะได้หลังประมูลจบ 60 วัน ครอบครองนาน 15 ปี คาดแจกคูปองให้ 22 ล้านครัวเรือนได้ ต้นปี 2557 หลังได้เงินประมูล

 พันเอกนที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมอนุมัติร่างประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการการให้บริการทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจ ซี่งร่างนี้ จะมีความสำคัญเรื่องวิธีการและกระบวนการให้บริการช่องธุรกิจ โดยจะเสนอบอร์ดใหญ่กสทช.วันที่ 22 พฤษภาคมนี้  เพื่อนำไปสู่กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ สำหรับร่างประกาศฉบับนี้  จะเกี่ยวกับกระบวนการทั้งหมด ที่จัดประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง โดยวันนี้ ปรับปรุง 3 หัวข้อที่เป็นเงื่อนไขสำหรับผู้ได้ใบอนุญาต  คือ  จะต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบตามที่คณะกรรมการกำหนด ,จัดให้มีกระบวนการับเรื่องร้องเรียน และจัดให้มีบริการที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของคนพิการ สูงอายุ และคนด้อยโอกาส เช่น มีล่ามภาษามือ บรรยายอัรษรวิ่ง หรือ เสียง ซึ่งเพิ่มเติมตามข้อเสนอแนะของอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

 
สำหรับรูปแบบและวิธีการประมูลช่องธุรกิจ 24 ช่องนั้น กสทช.กำหนดให้แต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 1 ช่องรายการ และผู้ประมูลทั่วไป จะประมูลในช่องข่าวไม่ได้  ส่วนราคาตั้งต้นการประมูล เป็นไปตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และการเพิ่มราคาประมูลในการแต่ละครั้งจะกำหนดไว้ชัดเจน ได้แก่ ช่องเด็ก เพิ่มครั้งละ 1 ล้านบาท, ช่องเด็กเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท, ช่องรายการทั่วไปSD เพิ่มครั้งละไม่เกิน 5 ล้านบาท และช่องรายการทั่วไป HD  เพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 ล้านบาท
 
ส่วนการชำระเงินนั้น แบ่งเป็น 2 ก้อนใหญ่  คือราคาขั้นต่ำ  และเงินที่เพิ่มจากการแข่งขัน  โดยเงินขั้นต่ำ หรือราคาเริ่มต้นการประมูลในแต่ละช่อง จะแบ่งเป็น 4 งวด คือ ร้อยละ 50, 30, 10 และ 10 ภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายโครงขยาย และสนับสนุนคูปองในการเปลี่ยนผ่านให้ประชาชน  โดยคาดว่าจะเริ่มต้นแจกคูปองได้ในช่วงต้นปี 2557   
 
ส่วนเงินก้อนที่ 2 ที่เพิ่มจากการแข่งขัน  จะแบ่งจ่ายออกเป็น 6 งวด  ในระยะเวลา 6 ปี  ซึ่งงวดแรก และงวด 2  จะจ่ายร้อยละ 10 ของเงินที่เพิ่มมาจากการแข่งขัน   ส่วนงวดที่ 3 - 6 จ่ายร้อยละ 20   โดยเงินส่วนนี้จะนำเข้ากองทุน USO
 
ทั้งนี้ หลังจากผ่านบอร์ดวันที่ 22 นี้แล้ว จะนำไปสู่กระบวนการับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งกรอบเวลาการประมูลยังเป็นตามแผนเดิม คือ เดือนสิงหาคม หรือกันยายน 2556 หรืออาจขยายออกไปเต็มที่ไม่เกิน 1-2 เดือน
 
สำหรับ การประมูลจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการเปิดเป็นรอบๆ ยกเว้น มีคนชนะในช่องรายการมีมากกว่าคลื่นความถี่ที่อนุมัติ ก็จะขยายเวลาออกไปครั้งละ 5 นาที จนกว่าจะได้ผู้ชนะ ซึ่งขัดเจนว่าหากครบ 1ชม.แล้ว จะทราบผลผู้ชนะทันที  โดยกสทช.จะแบ่งกลุ่มการประมูลออกเป็น 4 กลุ่ม และไม่ได้ประมูลพร้อมกันในช่วงเวลา หรือวันเดียวกัน โดยผู้ประกอบการที่ชนะประมูลจะได้ใบอนุญาตครอบครองนาน 15 ปี  
 
“รูปแบบการประมูล จะต้องเพิ่มราคาประมูลขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถเพิ่มแบบกระโดดได้ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ชนะการประมูลมีราคาที่แตกต่างกันมาก   ผู้ชนะประมูล  จะได้สิทธิ์เลือกตัวเลขช่องที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน รวมทั้งจะเอาลำดับเลขที่ของผู้ชนะการประมูล มาเรียงลำดับตามยอดเงินที่ชนะประมูล เพื่อมีสิทธิ์เลือกโครงข่ายได้ก่อน  กรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอลครั้งนี้ เรียกว่ารูปแบบวิธีการประมูล การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลในการบริการธุรกิจระดับชาติ เป็นวิธีการประมูลปกติ แบบฟอร์เวิร์ดออฟชั่น”
 
สำหรับกระบวนการสมัคร จะสมัครได้ไม่เกิน 3 กลุ่ม แต่ประมูลไม่พร้อมกัน ต้องเสียเงินค่าซื้อซอง จำนวน 1 ล้านบาท ต่อ 1 ช่องรายการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในมีจำนวนคนมาขอรับซองมากแล้วถึงเวลายื่นซองกลับเหลือเพียงไม่กี่ราย  และหลังยื่นขอใบอนุญาตแล้ว จะต้องวางมัดจำค่ายื่นซอง อีกร้อยละ 10   เช่น ช่องรายการเด็ก วางมัดจำ จำนวน 14 ล้าน , ช่องข่าว วางมัดจำ 22 ล้านบาท  ส่วนค่าประกันซองต้องจ่ายร้อยละ 10 ตอนขอยื่นขอรับใบอนุญาต
 
สำหรับ มาตราการป้องกันการฮั้วประมูลนั้น จะใช้กฎของสำนักงานหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  แต่กสทช. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลว่า ต้องมีทุนจดทะเบียนมากน้อยเพียงใด  แต่ต้องเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท จำกัด หรือ มหาชน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง