กลยุทธ์ "เพลงประกอบละคร" เปลี่ยนทิศ ดึง "พระ-นาง" สร้างกระแสนิยม

Logo Thai PBS
กลยุทธ์ "เพลงประกอบละคร" เปลี่ยนทิศ ดึง "พระ-นาง" สร้างกระแสนิยม

เมื่อใช้การตลาดนำ การทำเพลงประกอบละครสมัยนี้อาจได้อารมณ์ แต่ไม่ได้บอกเรื่องราวของละครได้มากเท่ากับบบทเพลงประกอบละครในอดีต แต่เมื่อบทเพลงและละครสามารถสร้างกระแสนิยมให้กันและกันได้ จึงได้เห็นนักแสดงหลายคนมาสวมบทนักร้อง นี่คืออีกวิธีขายพ่วงที่กำลังมาแรง

"ดลให้เราได้พบเจอเป็นคู่กัน วอนสวรรค์ได้ไหม" หนึ่งในเนื้อร้องท่อนฮุคในเพลงประกอบละครเรื่องคู่กรรม ที่สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือ ชมพู ฟรุตตี้ แต่งเป็นเพลงแรกในชีวิต แม้จะประสบความสำเร็จทั้งละคร และเพลงโด่งดังถูกใจผู้ชมไปทั่วเมือง แต่หากย้อนกลับไปได้ เขาไม่อยากใช้คำว่า "วอนสวรรค์" เพราะคู่กรรมนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นคู่ที่ฟ้าลิขิตมาแล้ว  ชมพูมีโอกาสได้แต่งเพลงประกอบละครเรื่องคู่กรรมอีกครั้ง เวอร์ชั่น 2013 จึงตั้งใจใช้คำว่า "ชาตินี้ให้เราเกิดเป็นคู่กรรม ชาติไหนจะยอมให้เป็นคู่กัน" 

 
กว่า 20 ปี ที่เดินบนเส้นทางนักแต่งเพลงประกอบละครให้กับหลายช่อง จนพบทางถนัดอย่างบทเพลงประกอบละครพีเรียด หรือ ย้อนยุค ทั้งสายโลหิตที่แต่งเอง ร้องเองในปี 2538 ญาติกา และดั่งดวงหฤทัย ปี2539 ส่วนหนึ่งที่ทำให้บทเพลงไพเราะ จับใจ ยังมาจากการใช้ภาษาสละสลวย ที่เข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้ เพราะชอบอ่านนิตยสารทุกประเภท และโจทย์สำคัญที่ต้องตีให้แตก คือการอ่านบทประพันธ์ และเข้าถึงใจตัวละครให้ได้ 
 
สุทธิพงษ์ วัฒนจัง นักร้อง-นักแต่งเพลง บอกว่า เวลาแต่งเพลง ผมจะนั่งดูทีวีเปล่าๆ แล้วจินตนาการไปว่าไตเติ้ลมันจะวิ่งมาอย่างนี้ รูปนี้ เพลงเราจะขึ้นว่ายังไงมาพร้อมภาพอะไร คิดว่าถ้าเราเป็นผู้ชม ดูไปถึงตอนไหนจะรู้สึกยังไง อย่างตอนจบก็ต้องสุดยอด และทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในเพลงประกอบละคร 
 
หลายปีหลังการได้เห็นนักร้องที่รับหน้าที่ร้องเพลงประกอบละครไปในตัว แม้ผู้จัดมีความพยายามจะสร้างภาพนี้มานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า การร้องเพลงนั้นเป็นพรสวรรค์ และความสามารถเฉพาะตัวที่ดาราน้อยคนจะทำได้ดีพอๆ กับเรื่องของการแสดง 

    

 
กลยุทธ์การตลาดที่เปลี่ยนทิศ ไม่เพียงใช้บทเพลงสร้างอารมณ์ หรือเล่าเรื่องเหมือนก่อน แต่ยังคิดไกลไปถึงการขายดาวน์โหลด และรวบรวมเป็นอัลบั้มพิเศษ จึงทำให้ปัจจุบันละครเรื่องหนึ่งๆ มีบทเพลงประกอบมากขึ้น ด้วยการดึงพระนางมาขับร้องเรียกเรตติ้ง กระตุ้นให้อารมณ์ผู้ชมให้ยิ่งคล้อยตาม และประทับใจในความสามารถอีกด้านของเหล่าดาราดัง 
 
การตลาดที่เปลี่ยนไปแบบนี้ยังส่งผลให้ผู้จัดละครเลือกผูกขาด กับค่ายเพลงเพื่อแต่งเพลงประกอบละครโดยเฉพาะ ธุรกิจแบบยิงทีเดียวได้นกสองต่อ ยังทำให้ลิขสิทธิ์เป็นของค่ายเพลงและนำไปสร้างกำไรต่อยอดได้ ผิดกับบทเพลงประกอบละครในอดีตที่ผู้จัดตัดสินใจเลือกนักแต่งเพลงด้วยตัวเอง 
 
นักแต่งเพลงยืนยันว่าบทเพลงประกอบละครดีๆ ช่วยผลักดันให้ละครได้รับความนิยมตามไปได้ แต่ก็คงไม่เท่ากับละครดีๆ ที่มีเพลงประกอบที่ลงตัวเสริมกันจนประทับใจคอละคร 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง