สพฐ.ยืนยันพิจารณา 3 ขั้นตอนก่อนตัดสินใจยุบโรงเรียน

สังคม
15 พ.ค. 56
04:00
698
Logo Thai PBS
สพฐ.ยืนยันพิจารณา 3 ขั้นตอนก่อนตัดสินใจยุบโรงเรียน

สพฐ.ส่งสัญญาณไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็กในปีนี้ โดยอาจมีการยุบรวมบางโรงเรียนบางแห่งเท่านั้น ขณะที่เครือข่ายโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้(15 พ.ค.) เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการยุบโรงเรียน

นายเดชา พงษ์แดง รองประธานเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยในรายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอส เปิดเผยถึงนโยบายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยระบุว่า ไม่ได้คัดค้านการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก แต่อยากให้มีความชัดเจนในเรื่องเงื่อนไข ทั้งกรณีการจำแนก หรือการจัดกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กให้ชัดเจน รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการสถานศึกษา ที่ต้องมีความชัดเจนว่า เมื่อยุบโรงเรียนแล้ว นักเรียนและครูต้องไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันยังเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีคุณภาพ ด้วยการคัดสรรผู้บริหารที่มีความสามารถ ให้บริหารโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ แทนการให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นทางผ่าน

ขณะที่นายศุภณัฎฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการด้านการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะส่งผลด้านดีต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาผลวิจัยยังพบว่า เด็กไทยประสบปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องเหมาะสม

สำหรับการเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย วันนี้ (15 พ.ค.) จะเข้ายื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็กต่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้นำแนวทางในการปฏิบัติดังกล่าวไปพิจารณาปรับใช้ ก่อนตัดสินใจเดินหน้ายุบโรงเรียนตามนโยบาย

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ยืนยันว่า จะไม่ให้เดินหน้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน โดย สพฐ.ได้ให้หลักการกับเขตพื้นที่การศึกษาในการจัดทำแผนโรงเรียนขนาดเล็กไปว่า ก่อนจะเสนอยุบเลิกหรือยุบเลิกโรงเรียนแห่งใดนั้นจะต้องผ่าน 3 ขั้นตอนที่สำคัญก่อน

โดยเริ่มต้นจากการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนั้นแล้ว พร้อมกับการเร่งรัดพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดทำแผนที่ตั้งของโรงเรียน การรวมกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกัน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการศึกษา หากผ่าน 2 ขั้นตอนแรกแล้ว โรงเรียนแห่งนั้นยังมีจำนวนนักเรียนลดลง และได้มีการหารือประชาคม ชุมชน จนได้รับความเห็นชอบให้ยุบเลิกโรงเรียนได้ จึงจะสามารถยุบเลิกโรงเรียนแห่งนั้นได้


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง