แอมเนสตี้ฯ ยื่นหนังสือหนุนกรมราชทัณฑ์ "ถอดตรวน" ผู้ต้องขัง

สังคม
15 พ.ค. 56
11:03
1,043
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ฯ ยื่นหนังสือหนุนกรมราชทัณฑ์ "ถอดตรวน" ผู้ต้องขัง

พร้อมเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกโทษประหารชีวิต

 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนับสนุนรัฐบาลต่อโครงการนำร่องในการถอดตรวนผู้ต้องขังจำนวน 500 คนที่เรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปฏิบัติตามหลักมาตฐานสิทธิมนุษยชนสากล และเรียกร้องให้รัฐบาลควรกำหนดให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนในการยกเลิกการใส่โซ่ตรวนผู้ต้องขังทั่วประเทศต่อไป รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต เพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน

 
นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า การรณรงค์เรียกร้องให้ถอดโซ่ตรวนผู้ต้องขังในเรือนจำมีการดำเนินการมาอย่างยาวนานจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะเป็นการทรมานซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
“การใช้เครื่องพันธนาการประเภทตรวนแก่ผู้ต้องขัง เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การจำตรวนไว้ตลอด24 ชั่วโมงทั้งๆ ที่ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถือเป็นทรมาน และเป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
            
การที่รัฐบาลและกรมราชทัณฑ์จัดให้มีการถอดโซ่ตรวนนักโทษ 500 คนในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดว่าบรรดาเครื่องพันธนาการ เช่น กุญแจมือ โซ่ ตรวน และสายรัดแขน จะต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อการลงโทษ รวมทั้งไม่ใช้โซ่ตรวนในระหว่างการจองจำนักโทษ เครื่องพันธนาการอาจจะใช้ได้เพียงเฉพาะระยะเวลาที่จำกัดและเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น
 
“หวังว่าโครงการนำร่องนี้จะพัฒนาให้เป็นนโยบายที่ประกาศยกเลิกการใช้โซ่ตรวนกับผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศและในห้องพิจารณาของศาลในที่สุด และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ ด้วย เช่น แก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ การจำแนกผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี กับผู้ต้องขังที่มีคำพิพากษาแล้ว การเพิ่มช่องทางเพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและทันท่วงที เป็นต้น”
          
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินการให้การศึกษา สร้างความเข้าใจในการเคารพสิทธิมนุษยชนมากว่า 50 ปี ปัจจุบันมี 140 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้
         
 “รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในทางที่ยกเลิกโทษประหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต และโทษดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม”
           
เพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์อันดีในการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงเรียกร้องรัฐบาลพิจารณาสนับสนุน ดังนี้
           
1. ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
 2. เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิต     
3. บรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3
 4.    ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง