ปลัด พม. ยกเอ็นจีโอ เติมสมดุลทำงานร่วมข้าราชการ

สังคม
16 พ.ค. 56
15:45
64
Logo Thai PBS
ปลัด พม. ยกเอ็นจีโอ เติมสมดุลทำงานร่วมข้าราชการ

ฝากผู้นำการเปลี่ยนแปลงคิดสร้างสรรค์ นำทิศทางพัฒนาสังคม ประเทศชาติ นโยบายไหนไม่สำคัญตัดทิ้ง เน้นปฏิบัติด้วยใจ

 นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในฐานะประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Leadership for Social Change) รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 60 ปี สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กรุงเทพ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Leadership for Social Change) เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการ พม. องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ  เพื่อต้องการพัฒนา ส่งเสริมทักษะความรู้เพื่อให้ได้ผู้นำรุ่นใหม่หรือผู้นำที่มีความเหมาะสมในการทำงานกับโลกในยุคปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ดังนั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะต้องรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะขณะนี้หน่วยงานภาครัฐเองก็กำลังปรับตัว 

 
นายวิเชียร กล่าวว่า สิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลคือคนที่ไม่ได้ทำงานภาครัฐ แต่มีใจเสียสละมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ภาครัฐทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมดุลมากขึ้น ผมขอยืนยันเจตนารมณ์ในบทบาทหน้าที่ปลัด พม.ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ผมจะพยายามสร้างและพัฒนาระบบการทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม สร้างงานที่มีคุณค่า จะไม่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เพราะผู้บริโภคและสังคมไม่ต้องการ สิ่งที่ทำนั้นจะเป็นของเราเพียงผู้เดียว แต่จะทำในสิ่งที่คนในสังคมอยากได้ เราจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่าต่อเขา โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสในสังคมเขามีความรู้สึกน้อยใจอยู่แล้ว เป็นภารกิจที่เราต้องเข้าไปให้การดูแล ถ้าเราใช้พลังปกติในการปฏิบัติเหมือนคนทั่วไปแล้ว เขาก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดี มันจึงเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กว่าปกติ 
 
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ตนพยายามบอกเสมอว่า อะไรที่เป็นปรัชญาขององค์กรเดิมและไม่จำเป็นต้องทำก็ไม่ต้องทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่ด้วยทรัพยากร เวลา ทุกอย่างที่จำกัด หากไม่แบ่ง ไม่บริหารจัดการ คนทำงานก็จะรู้สึกว่างานเยอะ ทำไม่ไหว และธรรมชาติของมนุษย์กับการทำงานก็จะรู้สึกท้อแท้ ถอยหลังกลับ ไม่มีจิตวิญญาณในการทำงาน ชีวิตจะกลายเป็นคนไร้สาระ ดังนั้น หากตัดได้ก็ตัดไม่ต้องทำ และในอนาคตคนที่จะเข้ามาร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรุ่นต่อๆ ไป ขอให้คัดเลือกคนที่เป็นผู้ร่วมคิด ร่วมทำ แก้ไขปัญหา คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบการทำงาน สร้างความเข้าใจในสังคมก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จ สังคมและประเทศชาติก็จะสงบสุขน่าอยู่ 
 
ด้านนายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงการทำงานด้านจิตอาสา การช่วยเหลือสังคม ผู้ด้อยโอกาส หน่วยงาน องค์กร มักจะไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ซึ่งในความเป็นจริงการทำงานด้านสังคม ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ฯลฯ ประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ เลย ดังนั้น หากเป็นไปได้ประเทศไทยจึงน่าจะสร้างแหล่งศึกษาดูงานของประเทศไทยเอง เพราะมีองค์กรที่มีการบริหารจัดการ มีนวัตกรรมที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงานในแทบภูมิภาคอาเซียนได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง