"นายกฯ"ประชุม กปต.เร่งรัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3 จังหวัดใต้

เศรษฐกิจ
17 พ.ค. 56
04:14
82
Logo Thai PBS
"นายกฯ"ประชุม กปต.เร่งรัดงบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3 จังหวัดใต้

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยอมรับว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความพยายามในการยกระดับข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น ขณะที่วันนี้ (17 พ.ค.)นายกรัฐมนตรี จะประชุมคณะกรรมการ กปต. โดยมีวาระสำคัญในการเร่งรัดแผงงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (17 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. โดยมีวาระสำคัญ ในการมอบนโยบายการเร่งรัดแผนงาน และงบประมาณการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกระทรวงมหาดไทย ในฐานะดูแลฝ่ายปกครองเป็นเจ้าภาพการจัดทำแผนงาน

โดยเบื้องต้นมีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำ เรื่องการเสนองบประมาณว่าต้องที่ไม่ซ้ำซ้อน และต้องรับฟังความต้องการจากประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการ การทหาร สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) ซึ่งได้เชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าชี้แจงความคืบหน้ากรณีการพูดคุยสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับตัวแทนขบวนการกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ได้สอบถามเรื่องการข่าวในพื้นที่ ความคืบหน้าการเจรจา และตั้งข้อสังเกตว่า การเดินหน้าเจรจาครั้งนี้ สวนทางกับการก่อเหตุที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ระบุว่า เห็นด้วยกับการเจรจา แต่เชื่อว่าระหว่างการเจรจา สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้จะมีความรุนแรงขึ้น เพื่อให้รัฐบาลไทยมีอำนาจต่อรองน้อยลง ดังนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงต้องมีปฏิบัติการด้านยุทธวิธีให้เข้มขึ้น

โดยกรณีนี้ พล.ต.ธนเกียรติ ชอบชื่นชม รองผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือ ศรภ. ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการด้านการข่าวในพื้นที่ตลอดเวลา ทั้งก่อนและหลังพูดคุยว่า ประชาชนเห็นอย่างไรกับการเจรจา พร้อมดำเนินการสืบสภาพเรื่องตัวบุคคล ที่ร่วมเจรจาแล้วแต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยอมรับว่า การก่อเหตุรุนแรงในช่วงนี้ เป็นเพราะมีความต้องการยกระดับต่อรองในการเจรจา แต่หน่วยงานด้านความมั่นคง จะยังคงดำเนินการตามยุทธวิธีอย่างเข้มข้น ควบคู่กับการเจรจาที่ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งการพูดคุยก็มีมาตั้งแต่ปี 2534 และที่ผ่านมารัฐบาลเห็นชอบนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ตั้งแต่ปี 2555-2557 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยรัฐบาลได้เน้นกระบวนการเดินหน้าอย่างสันติวิธี ขณะเดียวกันการเมืองของประเทศมาเลเซียก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา เพราะทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาเลเซียเห็นพ้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ของไทยด้วยสันติวิธี และจะเข้มงวดผู้กระทำผิดที่หนีเข้ามาเลเซียด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง