"บึงระนามโมเดล" ตัวอย่างการ "ควบรวมโรงเรียน" ยกระดับการศึกษา

17 พ.ค. 56
14:21
608
Logo Thai PBS
"บึงระนามโมเดล" ตัวอย่างการ "ควบรวมโรงเรียน" ยกระดับการศึกษา

แม้นโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะยังไม่มีรูปแบบดำเนินการที่ชัดเจน แต่มีผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายถูกยุบในอ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พยายามปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ด้วยการควบรวมโรงเรียน 3 แห่ง ในชุมชน โดยใช้ชื่อว่า "บึงระนามโมเดล" ซึ่งถือเป็นการยกระดับการศึกษาของเด็กในชนบท ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้บริหารโรงเรียน คนในชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ครูระดับชั้นอนุบาล ประจำโรงเรียนบ้านซะวาซอ ต.กุดเสลา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ช่วยกันดูแลนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ซึ่งมีอยู่ จำนวน 24 คน จำนวนครู 2 คนต่อ 1 ห้อง เรียนทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 
โรงเรียนบ้านซะวาซอ เป็น 1 ใน 3 โรงเรียนขนาดเล็กของต.กุดเสลา ที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 60 คน ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ การขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน รวมถึงครูผู้สอน ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนมีแนวคิดควบรวมโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เพื่อยกระดับการศึกษาของนักเรียนในชุมชน
 
"บึงระนามโมเดล" คือ ต้นแบบการควบรวมโรงเรียน 3 แห่งในต.กุดเสลา คือ โรงเรียนบ้านซะวาซอ โรงเรียนบ้านกันจาน และโรงเรียนบ้านโนนคูณ โดยใช้ชื่อบึงระนาม ซึ่งเป็นสระน้ำในชุมชน

    

 
การดำเนินการจะรวมนักเรียนทั้งหมดของ 3 โรงเรียน รวมถึงครูผู้สอน ก่อนจะมีการแบ่งนักเรียนกระจายไปเรียนในโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ตามระดับความพร้อมของแต่ละชั้นเรียน โดยจะจัดรถรับส่งนักเรียนตามระดับชั้นต่างๆ ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนผู้ปกครองมองว่า เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้เด็กมีการตื่นตัว และมีความรู้มากขึ้น
 
การควบรวมโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง ทำให้สามารถแก้ปัญหาครูผู้สอน ซึ่งการยกระดับคุณสภาพสถานศึกษาเป็นสิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง มองว่า จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กได้มากกว่าการยุบโรงเรียน แม้บึงระนามโมเดลจะเพิ่งนำมาทดลองใช้ แต่ครูผู้สอน คนในชุมชน รวมถึงนักเรียนต่างพอใจและคาดว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาของพวกเขาดีขึ้น
 
บึงระนามโมเดลเป็นต้นแบบการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษเขต 4 จากจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่จะเข้าข่ายถูกยุบทั้งหมด 23 โรงเรียนจากทั้งหมด 209 โรงเรียน ซึ่งแม้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการจะยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่มองว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษามีหลายวิธี โดยเฉพาะการควบรวมโรงเรียนที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารรวมถึงคนในชุมชนต้องมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของบุตรหลานในชุมชนของตนเอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง