จีดีพีไทยไตรมาสแรกชะลอลงมาที่ 5.3% ตามคาด แนวโน้มทั้งปีอาจขยายตัว 4.8%

เศรษฐกิจ
21 พ.ค. 56
07:02
25
Logo Thai PBS
จีดีพีไทยไตรมาสแรกชะลอลงมาที่ 5.3% ตามคาด แนวโน้มทั้งปีอาจขยายตัว 4.8%

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในไตรมาส 1/2556 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยเป็นการสะท้อนภาพการกลับเข้าสู่ระดับปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจากที่เร่งตัวสูงถึงร้อยละ 19.1 (YoY) ในไตรมาส 4/2555 จากผลของฐาน

  อย่างไรก็ดี จีดีพีที่ปรับฤดูกาลประจำไตรมาส 1/2556 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 2.2 (QoQ, s.a.) จากไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 (QoQ, s.a.) ในไตรมาส 4/2555

 
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก ปี 2556 ที่ออกมาสอดคล้องกับประมาณการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กรอบประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 ที่ร้อยละ 4.3-5.3 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.8) ยังคงสมเหตุสมผล ภายใต้สมมติฐานในกรณีพื้นฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอาจมีค่าเฉลี่ยประมาณ 106 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

ขณะที่ เศรษฐกิจแกนหลักของโลก (ยกเว้น ยูโรโซน) น่าจะสามารถประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้ แม้ว่าข้อจำกัดทางด้านการคลัง อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ก็ตาม อย่างไรก็ดี บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากระดับค่าครองชีพที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากตามที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มกรอบคาดการณ์อัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนมาที่ร้อยละ 3.1-3.8 เทียบกับกรอบประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2.8-3.6

 
ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจในต่างประเทศทยอยมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2556 ขณะที่ ระดับเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพ และการเบิกจ่ายงบประมาณมีความคืบหน้าตามเป้าหมายของรัฐบาลแล้ว  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่โมเมนตัมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย น่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสข้างหน้า หลังจากที่หดตัวลงไปแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 
 
แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบ และการทยอยหมดผลของมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ คงทำให้เศรษฐกิจไทยต้องรับมือกับบททดสอบสำคัญในการประคองทิศทางการขยายตัวปีก่อน ในช่วงที่เหลือของปี 2556 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแรงขับเคลื่อนด้านการส่งออก และการใช้จ่ายเม็ดเงินของภาครัฐผ่านแผนการลงทุนในโครงการพิเศษอื่นๆ นั้น ค่อนข้างอ่อนไหวต่อหลายเงื่อนไขที่ต้องประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระบวนการเร่งผลักดันให้เม็ดเงินลงทุนนอกงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง