"อียู" ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทุกประเภทกับ"พม่า" แล้ว

ต่างประเทศ
21 พ.ค. 56
07:15
287
Logo Thai PBS
"อียู" ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทุกประเภทกับ"พม่า" แล้ว

มีผล 1 ปี โดยจะทบทวนมติคว่ำบาตรหรือไม่อย่างต่อเนื่อง จับตาดูผู้นำพม่า ทำตามข้อตกลงหรือไม่

 นายทิฆัมพร  นาทวรทัต  รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  เมื่อวันที่ 22  เมษายน  2556 ที่ประชุมคณะมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (Foreign Affairs Council) ได้มีมติที่ 2013/184/CFSP  ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทุกประเภทต่อประเทศเมียนมาร์  ได้แก่ การค้า  การอายัดทรัพย์สิน  และการห้ามบุคคลในรัฐบาล  ทหาร  และครอบครัวตามรายชื่อที่กำหนดเดินทางเข้า/ผ่านอียู  เป็นต้น  โดยที่ไม่ครอบคลุมถึงการขาย  จัดหา  ขนส่ง  ส่งออก  หรือการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอาวุธและวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทุกประเภท  รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้สำหรับการปราบปราบภายใน (Internal Repression) เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อมนุษยธรรม หรือการคุ้มครอง  หรือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการภายใต้สหประชาชาติ (UN) และอียู  โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2556 ถึง 30 เมษายน 2557 ซึ่งอียู จะมีการทบทวนมตินี้อย่างสม่ำเสมอ โดยอาจจะขยายระยะเวลาการยกเลิกมาตรการออกไปอีก  อย่างไรก็ดี  หากอียู เห็นว่าประเทศเมียนมาร์ไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออกมตินี้  อาจมีการแก้ไขมติดังกล่าวให้เป็นไปตามที่เห็นสมควร 

 
นายทิฆัมพร  กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556  คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรปได้มีมติสนับสนุนการคืนสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences : GSP) แก่ประเทศเมียนมาร์  ซึ่งคาดว่ารัฐสภายุโรปจะให้ความเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้  และในอนาคต  EU จะมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการลงทุนกับเมียนมาร์  ดังนั้น  การที่เมียนมาร์ได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรและคืนสิทธิพิเศษจีเอสพี อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการย้ายฐานการผลิตไปเมียนมาร์เพื่อส่งออกไป EU เนื่องจากจะได้เปรียบในการลดต้นทุนค่าแรงและได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีนำเข้า  สำหรับข้อเสนอการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนในเมียนมาร์ของ EU นั้น  แสดงให้เห็นว่าอียู มีความสนใจที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาต่ำในเมียนมาร์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ EU      มีความน่าจะเป็นในการย้ายการลงทุนจากภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งไทยไปเมียนมาร์   โดยตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2555  เมียนมาร์ส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 836 ล้านยูโรไปอียู โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ  เสื้อผ้าและสินค้าเกษตรกรรม โดยในปี 2555 เมียนมาร์ถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 137  ของอียู  ขณะที่ไทยอยู่ลำดับที่ 25    
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง