ผู้ว่าการ กฟผ. แถลงขอโทษประชาชน สั่งตรวจสอบไฟฟ้าภาคใต้ทั้งระบบ

เศรษฐกิจ
22 พ.ค. 56
09:29
81
Logo Thai PBS
ผู้ว่าการ กฟผ. แถลงขอโทษประชาชน สั่งตรวจสอบไฟฟ้าภาคใต้ทั้งระบบ

เผยระบบไฟฟ้าเข้าสู่ภาวะปกติ ชี้ความจำเป็นการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 21 พ.ค.2556 เวลา 18.52 น. เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ โดยสายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สาย 500 กิโลโวลต์ จำนวน 2 เส้น และสาย 230 กิโลโวลต์ จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500 กิโลโวลต์จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง จนเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 กิโลโวลต์ เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า  ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 กิโลโวลต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ

 
ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค.56มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50(เฮิร์ต) Hzเพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า และได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา  23.00 น.
          
 “ กฟผ.ขออภัยประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก” 
         
 ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6 ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางบางส่วน แต่ระบบส่งที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้มีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศในช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูง จากนี้ กฟผ. จึงมีแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557  และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นหลักประกันและลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง