เกิดการตั้งคำถามถึงปริมาณการใช้ - ผลิตไฟฟ้า หลังไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้

22 พ.ค. 56
14:48
459
Logo Thai PBS
เกิดการตั้งคำถามถึงปริมาณการใช้ - ผลิตไฟฟ้า หลังไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้

กรณีไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ นับเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 35 ปี ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงปริมาณการใช้ และการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งที่มีโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ซึ่งจากนี้ไป ภาครัฐจะมีแนวทางการบริหารจัดการ และป้องกันอย่างไร

ถ้าไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ อาจจะไม่มีการตั้งคำถามถึงความเพียงพอของพลังงานไฟฟ้า เพราะถ้าดูตัวเลขไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับความต้องการใช้ไฟฟ้า จะเห็นว่ามีสำรองเหลือถึง 15 เปอร์เซ็นต์ แม้วันที่การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ถือว่ามีไฟฟ้าเหลือพอใช้ และไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่มาดูภาคใต้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปริมาณผลิตได้ถึง 600-700 เมกะวัตต์ แม้มีโรงไฟฟ้า 6 แห่ง กำลังหลักมาจาก โรงไฟฟ้าขนอม นครศรีธรรมราช

โรงไฟฟ้าจะนะ สงขลา และโรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังผลิตรวม 1,970 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้ไม่เต็มกำลัง เพราะฉะนั้นต้องดึงจากโรงไฟฟ้าในภาคกลางมาช่วย เพราะระบบไฟฟ้าทั่วประเทศเชื่อมโยงกัน หรือถ้าขาดที่ไหน ก็น่าจะย้ายโหลดไปช่วยได้ หรือขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคใต้เกิดสะดุด แต่ที่ปัญหาเกิดก็เพราะระบบส่งจากราชบุรี ต้องต่อมายัง เพชรบุรี ก่อนมาสถานีจ่ายไฟฟ้าบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างทางเกิดสะดุด

ตรงนี้มีสายส่ง 4 เส้นหลัก 500 เควี หรือ 500,000 โวลท์ 2 เส้น และ 230 เควี 2 เส้น 500 เควี เส้นแรกซ่อมบำรุง ไม่มีการส่งไฟ แต่เส้นที่ 2 เกิดฟ้าผ่า จ่ายไฟไม่ได้กะทันหัน จำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านเส้น 230 เควีที่เล็กกว่า จนสายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลัง ส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ส่วนโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ถูกปลดจากระบบโดยอัตโนมัติ เนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อป้องกันความเสียหาย ดังนั้นจึงเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้

หน่วยงานด้านพลังงานเคยเปิดเผยความเสี่ยงไฟฟ้าดับในภาคใต้ เพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวสูงในแต่ละปี แต่ผลิตไฟไม่พอ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และแผนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะขยายกำลังผลิตไฟฟ้า จาก 3 โรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้

ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชจาก 748 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 900 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา 731 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากระบี่ 340 เมกะวัตต์ เพิ่มอีก 800 เมกะวัตต์ เพื่อให้พื้นที่ภาคใต้มีสำรองไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้า เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่น และรองรับการขยายตัวอนาคต แต่ติดขัดปัญหาการยอมรับจากชุมชน

มีอีกแนวทางที่ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดถึงในวันนี้ คือการขยายระบบส่งให้ทั่วถึงมากขึ้น และเพิ่มความยาวในภาคใต้ ประเด็นนี้ตรงกับความเห็นของ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่การลงทุนระบบส่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่เฉพาะระบบส่งจากโรงไฟฟ้าหลัก แต่ควรส่งเสริมระบบส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนควบคู่กันไปด้วย

นายเดชรัตน์ บอกด้วยว่าภาคใต้มีศักยภาพมากที่จะผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะมีพืชเศรษฐกิจที่จะนำส่วนเหลือใช้มาผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หากแต่ขาดการส่งเสริม แต่ถ้าช่วยกันเต็มที่แล้ว เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินผลิตไฟฟ้าอีกเลย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง