จับตา 2 ตัวเต็งจากเอเชียในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2013

Logo Thai PBS
จับตา 2 ตัวเต็งจากเอเชียในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2013

เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ มีข่าววุ่นวายอยู่เป็นระยะ แต่ที่น่าจับตาก็คือหนังเข้าประกวดของ 2 ชาติ จีน และอิหร่านที่ได้ชื่อว่าเข้มงวดด้านการควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ แต่เรื่องที่เข้าประกวดก็เต็มไปด้วยการวิพากษ์สังคมและสะท้อนปัญหาครอบครัว

คนงานเหมืองล้างแค้นผู้นำชุมชนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง คนงานพลัดถิ่นหาทางแก้ปัญหาด้วยอาวุธปืน ภรรยาสาวที่ต้องมาทำงานต้อนรับในสถานบันเทิง และเด็กหนุ่มที่ทำทุกทางเพื่อยกฐานะของตนเอง คือ 4 เรื่องราวที่นำไปสู่โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจีน เนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ที่กำลังสร้างปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้ เจียเจิงเขอ ผู้กำกับชาวจีนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง อะ ทัช ออฟ ซิน (A touch of sin) หนึ่งในผลงานที่ลุ้นปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้

ผลงานภาพยนตร์ของ เจียเจิงเขอ ส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมสมัยกล้าตีแผ่ปัญหาสังคม เช่น ทเวนตี้โฟว์ ซิตี้ (24 City) ที่ตีแผ่ชีวิตลูกจ้างที่ต้องตกงานเพราะโรงงานของรัฐถูกปิดเพื่อก่อสร้าง แหล่งอาศัยสมัยใหม่ สติล ไลฟ์ (Still Life) หนังสิงโตทองคำปี 2006 ที่เล่าชะตากรรมหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมจากการก่อสร้างเขื่อนสามผ่าของรัฐบาล ซึ่งใน อะ ทัช ออฟ ซิน เจียเจิงเขอ กล่าวว่าเป็นหนังที่ดัดแปลงจากข่าวอาชญากรรมที่พบได้ตามสื่อทั่วไป แม้ชาวจีนจะเป็นคนลืมง่าย แต่การปกปิดความรุนแรงในสังคม ไม่อาจนำไปสู่ทางแก้ไขปัญหาให้ชาติพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

อีกผลงาน ของผู้สร้างเอเชียที่กำลังเป็นที่จับตาในคานส์ปีนี้ คือ ดิ เพสท์ (The Past) ผลงานล่าสุดของ อัสการ์ ฟาราดี ผู้กำกับชาวอิหร่าน ซึ่งคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศจาก อะ ซิพาเรชั่น (A Separation) เมื่อปีที่แล้ว โดย ดิ เพสท์ ยังคงเป็นหนังที่ตีแผ่ปัญหาครอบครัว เมื่ออดีตสามีชาวอิหร่านเดินทางมาหาอดีตภรรยาในฝรั่งเศสเพื่อทำให้การหย่า ของทั้งคู่เสร็จสมบูรณ์ แต่กลับพบว่าชีวิตใหม่ของคนรักเก่ากลับเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งความขัดแย้งกับลูกสาววัยรุ่นและลูกติดจากว่าที่สามีใหม่ ซึ่งอดีตภรรยาของเขาก็กำลังอยู่ในอาการโคม่า

การที่ ดิ เพสท์ มาถ่ายทำนอกอิหร่าน ทำให้ อัสการ์ ฟาราดี ไม่ถูกควบคุมความคิดเหมือนผู้กำกับที่ทำงานในอิหร่านคนอื่นๆ แต่ก็ยังยึดแนวทางการสร้างศิลปะบนพื้นฐานของการควบคุมตัวเองอยู่เสมอ แม้หนังของเขาจะไม่ได้วิพากษ์การเมืองโดยตรง แต่ปัญหาหลากหลายในครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องที่เขาสนใจ และการสร้างหนังที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็เป็นแนวทางในการสร้าง สรรค์ตลอดชีวิตการทำงานของเขา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง