นักวิชาการแนะรัฐสร้างระบบส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

สังคม
23 พ.ค. 56
04:32
103
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะรัฐสร้างระบบส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน ยืนยันว่า สาเหตุของไฟฟ้าดับในภาคใต้ ไม่เกี่ยวกับกำลังการผลิตไม่เพียงพอ พร้อมระบุด้วยว่า ในพื้นที่ภาคใต้ มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนหลายอย่าง แต่ที่ผ่านมาปัญหาสำคัญคือไม่มีการพัฒนาระบบสายส่ง และการรับซื้อพลังงานจากพื้นที่ ความเห็นนี้ สอดคล้องกับตัวเลขการผลิตกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เห็นว่ามีการสำรองไฟฟ้าร้อยละ 15 ซึ่งเพียงพอแม้จะใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันนั้น

แม้ตัวเลขจะระบุว่า ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้กับกำลังการผลิตยังสอดคล้องกัน ไม่ได้สร้างปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอ แต่หากแยกเฉพาะพื้นที่ จะพบว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ 600-700 เมกะวัตต์ แม้จะมีโรงไฟฟ้า 6 แห่ง ซึ่งกำลังการผลิตหลักมาจาก โรงไฟฟ้าขนอม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนโรงไฟฟ้าจะนะ สงขลา และโรงไฟฟ้ากระบี่ มีกำลังผลิตรวม 1,970 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้ไม่เต็มกำลัง ดังนั้นจึงต้องดึงกำลังไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าในภาคกลางมาช่วย หรือในบางครั้ง ก็ใช้วิธีการขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพื่อให้บริการอย่างเพียงพอในพื้นที่ และป้องกันไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคใต้ประสบปัญหา

แม้จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ไฟฟ้าดับครั้งนี้อาจมีเงื่อนงำที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการขับเคลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ แต่ต้องยอมรับว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปี แต่ผลิตไฟไม่เพียงพอตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และแผนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

จึงมีแนวคิดที่จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้า จาก 3 โรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ เพื่อให้พื้นที่ภาคใต้มีสำรองไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้า เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นและรองรับการขยายตัวอนาคต แต่ติดขัดปัญหาการยอมรับจากชุมชน

ประเด็นนี้ นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า สาเหตุไฟฟ้าดับครั้งนี้ แม้จะมีคำยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกำลังการผลิต แต่รัฐควรต้องส่งเสริมระบบส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเชื่อว่า หากมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอีก

ขณะที่มีการเสนอแนวคิดนี้ ก็มีข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ว่า นอกเหนือไปจากการรับคำสั่งตรวจสอบและดูแลสายส่งที่เกิดปัญหา กฟผ.เอง ก็ก็ได้มีแนวคิดพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่ง กฟผ.เชื่อว่า จะเป็นหลักประกัน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาวได้

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยจากนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ด้วยว่า นอกจากพื้นที่ภาคใต้ที่พบปัญหาไฟดับแล้ว พื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหานี้ได้อีก ก็คือ ภาคอีสาน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ใกล้ สปป.ลาว ที่เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ตาม แต่สายส่งไฟฟ้าแยกหลายสายมีขนาดเล็ก ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก แต่ไม่เสี่ยงเพราะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง