“พาณิชย์” ผนึกเอกชน ชูศักยภาพโลจิสติกส์ จี้ทูตพาณิชย์เร่งหาพันธมิตรลงทุนในภูมิภาค

เศรษฐกิจ
23 พ.ค. 56
14:18
172
Logo Thai PBS
“พาณิชย์” ผนึกเอกชน ชูศักยภาพโลจิสติกส์ จี้ทูตพาณิชย์เร่งหาพันธมิตรลงทุนในภูมิภาค

เผยทิศทางการค้าระหว่างประเทศอาเซียน พึ่งพา “พลังงาน-ท่าเรือทวาย” สค.เชื่อหลังจัดแถวผู้ประกอบการในกิจกรรม“AEC Week” อาเซียนโตสวนทางศก.โลกทะลุ 12%

 นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนา 2 เรื่อง คือ “การค้าและพลังงาน” (Trade and Energy) กับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในจัดกิจกรรมใหญ่“AEC WEEK” ที่จะมีจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ โดยกรมฯร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศว่า ท่าเรือน้ำลึกทวาย กับพลังงาน เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเสริมศักยภาพการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)

 
“นโยบายรัฐบาลต้องการเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวเต็มที่ จำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการลงทุนและการผลิตของไทย ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกําหนดนโยบายด้านพลังงานที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้วางยุทธศาสตร์การใช้อาเซียนเป็นฐานไปสู่เวทีโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของไทยเป็นศูนย์กลางการค้าลงทุนในภูมิภาคและเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคของอาเซียนเป็นฐาน เพื่อก้าวไปสู่การยกระดับให้ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการในภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)”นางศรีรัตน์ กล่าว
 
ในภาพรวมพลังงานของประเทศนั้น  ไทยเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย มีความต้องการพลังงานเติบโตโดยเฉลี่ยปีละร้อยละ 2.3จนถึงปี 2573 โดยยังต้องพึ่งพิงพลังงานประเภทซากพืชและสัตว์ (fossil) สูงมาก แบ่งเป็นน้ำมันสำหรับการคมนาคมและขนส่ง ร้อยละ 67 ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 65  อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (energy elasticity) ยังไม่ดีพอ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานในประเทศมีจำกัด  โดยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เองวันละ  2.1 แสนบาร์เรล ในขณะที่มีความต้องการ 8 แสนบาร์เรล/วัน  ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศใช้ไปได้อีกไม่เกิน 20 ปี (ตามอัตราการใช้ในปัจจุบัน) 
 
“ความท้าทายและความเสี่ยงด้านพลังงานของไทยในขณะนี้ คือ ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศจะหมดไปในอีก 15 - 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการพลังงานของประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังต้องพึ่งพิงการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงชนิดเดียวในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มีความเสี่ยงระดับสูงมาก (68%)  ต้องนำเข้าพลังงานที่มีราคาแพงเพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป (LPG/LNG) ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน”นางศรีรัตน์ กล่าว และว่า ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องการบริหารการนำเข้าของกรมฯจะเข้าไปประสานงาน และบริหารจัดการในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการค้าแลกเปลี่ยนสินค้าบริการระหว่างกัน เพื่อสร้างแหล่งนำเข้าแลกเปลี่ยนพลังงานใหม่”   
 
ทั้งนี้แนวทางดำเนินการรวมของหน่วยงานภาครัฐ จะมุ่งผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานของภาคประชาชน โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนพลังงานพอเพียง การผลักดันให้เกิดการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมทางด้านพลังงานทดแทน   ให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางด้านพลังงาน และผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่ให้มีการกระจุกตัวที่เชื้อเพลิงชนิดหนึ่งชนิดใดมาเกินไป
 
สำหรับการสัมมนาเรื่อง “ASEAN Connectivity และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย”นั้น การพัฒนาเต็มโครงการของท่าเรือน้ำลึกทวาย ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของนิคมอุตสาหกรรม และมีทางเข้าออกโดยตรงสู่ทะเลอันดามัน จะประกอบด้วย อู่ต่อเรือ พื้นที่โกดังเก็บสินค้าและไซโล สิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งอาคารเก็บสินค้าเทกองและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมื่อประสานความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือทวาย โดยท่าเรือทวาย ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันตกและ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปรียบเส้นทางการขนส่งไปทางตะวันออก 
 
“ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ เมื่อพิจารณาด้านศักยภาพความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเสริมศักยภาพของการเป็นโลจิสติกส์ฮับของไทย มีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากสหภาพพม่า ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ด้านอุปทานแรงงานซึ่งมีอยู่จำนวนมาก และมีค่าจ้างแรงงานถูก เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน กิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ด้านปิโตรเคมี น้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น” นางศรีรัตน์ กล่าว
 
นางศรีรัตน์ กล่าวด้วยว่า การประชุม ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ 4 แห่ง หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 62 สำนักงานทั่วโลก ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งประสบปัญหาอุปสรรคหลายด้าน

รวมถึงการแข็งค่าและผันผวนของค่าเงินบาทที่มากกว่าค่าเงินของประเทศคู่แข่งขันในภูมิภาค ผลจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าหมายการส่งออกของปี 2556 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 8-9  เป็นขยายตัวร้อยละ 7 - 7.5  หรือ มีมูลค่าส่งออกรวม 245,585 – 246,733 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นในการผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ๆ  โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกรวม ปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 12.4 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 10 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง