ชาวบ้านค้านขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทยที่เกาะสมุย

23 พ.ค. 56
14:56
199
Logo Thai PBS
ชาวบ้านค้านขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทยที่เกาะสมุย

กระแสคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานของบริษัท 3 แห่ง ในอ่าวไทย โดยภาคประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง เข้มข้นมากขึ้น ล่าสุดเชิญองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานด้านการตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และร่วมลงนามในปฏิญญาเกาะแห่งชีวิต

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น 3 หน่วยงานที่ลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนในครั้งนี้ หลังจากภาคประชาชนที่นี่ร้องเรียนว่าการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้มีการขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม บริเวณเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ขัดรัฐธรรมนูญ

ที่บอกว่าขัดรัฐธรรมนูญนั้นมาจากการที่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจ้งว่าได้มีการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของบริษัทผู้รับสัมปทาน ใน 2 แปลงสัมปทานด้วยกัน คือแปลงจี4/50 ของ บริษัท ซาลามานเดอร์ และแปลงจี5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล ที่ห่างจากเกาะสมุย 40 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน ก็เตรียมอนุมัติอีไอเอ แปลงบี6/27 ของบ.ปตท.สผ. ห่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองไม่ถึง 40 กิโลเมตร ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนมาโดยตลอด พร้อมกับยืนยันว่า การทำอีไอเอของบริษัทดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายโครงการขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่การขุดเจาะน้ำมัน หลังจากนี้ กรรมการสิทธิ์จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง พร้วมกับเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อเท็จจริง หากกระบวนการจัดทำอีไอเอของทั้ง 2 แปลงสัมปทาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็สามารถยกเลิกการอนุมัติอีไอเอฉบับดังกล่าวได้

หลังการพูดคุย เครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ได้ร่วมกันลงนามในปฎิญญา "เกาะแห่งชีวิต" พร้อมกับเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานให้ยุติกิจกรรมการขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่รอบเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ขอให้รัฐทบทวนโครงการอื่นๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสมดุลทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในอ่าวไทย ขอให้มีการทบทวนกระบวนการทำอีไอเอใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะจากกิจการปิโตรเลียม

นอกจาก 3 ประเด็นที่ว่านี้แล้ว อีกข้อเรียกร้องที่เครือข่ายประชาชนที่นี่ และหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลจากนี้ คือการขอให้รัฐ ทบทวน แก้ไข ปรับปรุง ทั้งเงื่อนไข และวิธีการแบ่งรายได้ รวมถึงผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน หรือว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมนั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง