"โมเดลโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น" ตัวอย่างศึกษาทิศทางพลังงานไทย

เศรษฐกิจ
25 พ.ค. 56
14:09
595
Logo Thai PBS
"โมเดลโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น" ตัวอย่างศึกษาทิศทางพลังงานไทย

หลังเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เริ่มมีการพูดถึงการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพิ่มขึ้น รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ในอีก 20 ปี จำเป็นต้องเพิ่มโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งศึกษามาตรฐานโรงไฟฟ้าจากหลายประเทศ โดยเฉพาะที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในไทย แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้รับการคัดค้าน เนื่องจากความไม่มั่นใจในการบริหารจัดการและเกรงว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอย เหมือนอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ ขณะที่นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อม เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศ

ประเทศญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้าปริมาณมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เฉลี่ยปีละ 860,000  กิโลวัตต์ มีโรงไฟฟ้าจำนวนมากกระจายทั่วประเท เพื่อผลิตไฟฟ้าวันละ 206,575 เมกะวัตต์ จากแหล่งเชื้อเพลิงต่างๆ หลักๆ เป็นถ่านหิน นิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติ

การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ญี่ปุ่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก แต่ภายใต้พิธีสารเกียวโต ญี่ปุ่นประกาศจะลดการปล่อยก๊าซให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2593 การพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โรงไฟฟ้าเฮกินัน ในจังหวัดนาโงย่า เป็นโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แม้ก่อสร้างมากว่า 20 ปี แต่พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอิโซโกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง ของโยโกฮาม่า มีประสิทธิภาพและมาตรฐานในการลดมลภาวะ มากแห่งหนึ่งของโลก ถ่านหินในไซโล จะถูกลำเลียงไปเตาเผา ซึ่งในแต่ละกระบวนการ จะมีเทคโนโลยีลดการปล่อยไนโตรเจน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขณะที่เถ้าจากถ่านหินจะถูกดักจับ ไม่ให้กระจายสู่ภายนอก

แม้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นจะมีประสิทธิภาพสูง แต่นักวิชาการ เห็นว่าการจะพัฒนาไฟฟ้าในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเหตุผลให้ดี

ขณะที่นักสิ่งแวดล้อม ระบุการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าของไทยเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะประสบการณ์ที่เลวร้ายจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหา

การกำหนดทิศทางพลังงานประเทศ นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการ เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชน พูดคุยหารือ จนได้ข้อสรุป แม้อาจต้องใช้เวลานาน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง