กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองเตรียมค้านร่างปรองดอง

25 พ.ค. 56
14:28
31
Logo Thai PBS
กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองเตรียมค้านร่างปรองดอง

พรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันมติของพรรคสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่นายวรชัย เหมะและส.ส.เสนอ โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชี้ ส.ส.ของพรรคลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่พึงกระทำได้ของ ส.ส.ทุกคน ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเตรียมแถลงแนวทางการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้รัฐธรรมนูญในวันจันทร์นี้ ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนยืนยันที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยกร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยสปริง ระบุร่างกฎหมายฉบับนี้ หากพิจารณาจากบทบัญญัติ อาจมองไม่เห็นถึง และถ้านำไปสู่การปฏิบัติจะเห็นว่าขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจ จึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศว่าเป็นผู้ยกร่าง และมี ส.ส. 163 คนลงชื่อร่วมสนับสนุน โดยนายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเป็นวาระการพิจารณา ทั้งที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงมติเห็นชอบให้เป็นเอกภาพ กำลังตกเป็นประเด็นการต่อต้านคัดค้านของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง

นายแก้วสรร อติโพธิ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยสปริง กล่าวยอมรับว่าหากพิจารณาจากตัวบทกฎหมาย อาจไม่ส่อเจตนาใด แต่ถ้านำไปสู่การปฏิบัติจะเห็นได้ถึงเงื่อนไขของการบังคับใช้ที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เห็นควรหารือกำหนดแนวทางการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อความชัดเจน ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พัน โฆษกพันธมิตรฯ ยืนยันว่า เที่ยงวันจันทร์นี้ แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯจะได้หารือ และประเมินสถานการณ์ ก่อนออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน

สำหรับข้อสังเกตว่าเนื้อความของร่างกฎหมายเน้นเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการคืนเงินที่ถูกยึดให้เป็นของแผ่นดิน 46,000 ล้านบาทจากคดีร่ำรวยผิดปกติ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาปฏิเสธเจตนาบิดเบือนการช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเป็นบุคคลเดียว และชี้ว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์เฉพาะบุคคล ที่จะลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย

บันทึกหลักการ และเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ อ้างอิงเหตุชุมนุมในทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความร้าวฉาน ซึ่งควรยุติความรู้สึกบาดหมาง และเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น ด้วยการยกเลิกการกระทำที่เป็นความผิดอดีต จึงตรากฎหมายขึ้น รวม 4 มาตรา

มาตรา 1 และ 2 เป็นการบัญญัติคำ และกำหนดการบังคับใช้ นับแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนมาตรา 3 กำหนดพฤติกรรมที่จะได้รับการยกเว้นความผิด ทั้งการชุมนุม, การแสดงออกและการกระทำทางการเมือง ระหว่าง ปี 2549 จนถึงวันบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกรอบที่ชี้สถานะของคดี ตั้งแต่การสอบสวน-ให้ระงับการสอบ, หากส่งฟ้อง-ให้ระงับการฟ้อง, หากกำลังพิจารณา-ให้จำหน่ายคดี, หากพิพากษาแล้ว ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษามาก่อน

ขณะที่มาตรา 4 กำหนดให้ความผิดของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เกิดจากคำสั่ง หรือจากคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง จากคำสั่ง ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. หรือจากหน่วยงานอื่นอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้ถือเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมือง ที่ควรระงับไป

และแม้ความในร่างกฎหมายจะไม่ได้ระบุชัดถึงผู้รับประโยชน์ แต่เนื้อความที่เขียนไว้แบบเปิดกว้าง หากนำมาผนวกรวมกับแนวโน้มของเจตนาผู้เสนอร่างกฎหมาย ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นชนวนเหตุให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามลุกขึ้นมาแสดงออกต่อต้านคัดค้าน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง