ทางการฟิลิปปินส์ประท้วง "แดน บราวน์" เหตุเรียกมะนิลาเป็น "ประตูนรก"

Logo Thai PBS
ทางการฟิลิปปินส์ประท้วง "แดน บราวน์" เหตุเรียกมะนิลาเป็น "ประตูนรก"

การอ้างว่าข้อมูลในนิยายเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดสร้างปัญหาให้กับ แดน บราวน์ นักเขียนนิยายชื่อดัง เมื่อเขาถูกทางการฟิลิปปินส์ตำหนิ หลังนิยายเรื่องใหม่ของเขาบรรยายถึงกรุงมะนิลาว่าเหมือนเป็นประตูสู่ขุมนรก

การไขความลับของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการควบคุมประชากรโลกด้วยการแพร่เชื้อไวรัส คือภารกิจล่าสุดของ โรเบิร์ต แลงดอน ตัวละครเอกใน Inferno ผลงานใหม่ของ แดน บราวน์ ซึ่งทำยอดขายเบสต์เซลเลอร์ทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่สร้างความไม่พอใจให้ทางการประเทศฟิลิปปินส์ หลังนิยายเรื่องนี้บรรยายถึง ความเสื่อมโทรมและปัญหาสังคมในกรุงกรุงมะนิลาเมืองหลวงของแดนตากาล็อก ผ่านตัวละครหญิงในเรื่องว่า เป็นเมืองที่มีแต่ความแร้นแค้น, เต็มไปด้วยมลพิษ, การจราจรติดที่ขัดกว่า 6 ชั่วโมง และปัญหาโสเภณีเด็ก ซึ่งทำให้เธอรู้สึกไม่ต่างจากการมุ่งหน้าไปสู่ขุมนรก 

ข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อทางการของฟิลิปปินส์ โดย ฟรานซิส ทอเลนติโน ประธานคณะผู้บริหารมหานครมะนิลา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไปถึงนักเขียนดัง เพื่อประท้วงการเขียนนิยายป้ายสีเมืองหลวงของชาวฟิลิปปินส์ โดยไม่ยอมพูดถึงด้านบวกของชาวเมืองผู้เต็มไปด้วยจิตใจโอบอ้อมอารี ที่จะทำให้เมืองนี้น่าอยู่เหมือนประตูสู่แดนสวรรค์

แต่มีชาวฟิลิปปินส์บางส่วนที่เห็นด้วยกับปัญหาที่สั่งสมในกรุงมะนิลา ซึ่งของประชากรกว่า 12 ล้านคน เกือบครึ่งของประเทศอาศัยอยู่ในสลัม รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่พบได้ทั่วไป บางรายยกย่องแดน บราวน์ว่าบรรยายมะนิลาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และโจมตีนักการเมืองในชาติที่พยายามปฎิเสธข้อเท็จจริงเหล่านี้

นิยายเรื่อง Inferno ได้แรงบันดาลใจจาก Divine Comedy วรรณกรรมของ ดันเต อาลีกีเอรี กวีเอกศตวรรษที่ 14 ซึ่ง แดน บราวน์ ได้นำองค์แรกที่บรรยายถึงนรกภูมิมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง ซึ่งกรุงมะนิลาเคยถูกพาดพึงเรื่องปัญหาความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง เมื่อครั้งที่ แคลร์ เดนส์ ดาราสาวอเมริกันเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Brokedown Palace ในกรุงมะนิลาเมื่อปี 1999 ก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเมืองนี้เป็นสถานที่อันแปลกประหลาด, เต็มไปด้วยกลิ่นเหม็น และมีหนูชุกชุม จนนายโจเซฟ เอสตราดา ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์สมัยนั้นสั่งห้ามไม่ให้ดาราสาวเข้าประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง