วิถีตลาดชายแดนไทย-ลาว เชื่อมสัมพันธ์การค้า 2 ประเทศ

Logo Thai PBS
วิถีตลาดชายแดนไทย-ลาว เชื่อมสัมพันธ์การค้า 2 ประเทศ

พื้นที่อีสานเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชาและเวียดนาม ทำให้ชายแดนเป็นจุดผ่านของสินค้าและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ การทำความรู้จักเข้าใจพื้นที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาตลาดค้าชายแดน ที่รายงานบ้านเราอุษาคเนย์จะพาไปดูการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เน้นความรู้ด้านการค้าชายแดนไทย-ลาว

การค้าขายกันฉันท์เครือญาติและเป็นตลาดเอื้ออาทรสำหรับคนสองฝั่งโขงนิยามการค้าชายแดนบริเวณจุดผ่อนปรน บ้านนาทราย อำเภอนาตาล ที่พ่อค้าแม่ค้าสองฝั่งลาวและไทย มีนัดกันทุกวันเสาร์ นำอาหารพื้นบ้านและสินค้าทันสมัยวางขายในตลาดชุมชนริมโขงแห่งนี้

กว่า 10 ปีที่แม่ค้าชาวลาว นก นามทอง ข้ามจากเมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน มาขายผักพื้นบ้านและอาหารจากป่า อย่างกิ่งก่า งู บ่าง ผักหวาน ดอกกระเจียว ให้กับลูกค้าคนไทย สร้างรายได้ให้ตนและเพื่อนผู้ค้าจากฝั่งลาว ตรงกับความต้องการของชุมชน ที่หวังสร้างตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเกษตรปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ

นก นามทอง แม่ค้าชาวลาว เปิดเผยว่า อาหารการกินคล้ายกัน ไทยลาวพี่น้องกัน ฝั่งโน้นมีมากกว่าก็หามาขาย หาอะไรมาขายได้หมด

ขณะที่สมพร มามณี ทีมวิจัยชุมชนบ้านนาทราย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การทำตลาดนัดชุมชนขึ้นมาเป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้า แล้วตอนนี้เราส่งเสริมให้คนในชุมชนกินอาหารท้องถิ่น ปลอดภัยไม่มีสารพิษ ฝั่งไทยลาวใครมีจะมาขาย เป็นการค้าเอื้ออาทรกันของคน 2 ฝั่ง เชื่อได้ไว้ใจกัน

ท่าเรือบ้านนาทราย ถือว่าเป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขงในเขตตำบลพระลาน อำเภอนาตาล ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าจากฝั่งลาวจะใช้เป็นท่าขนส่งสินค้าข้ามฝั่งไปมาค่ะ นอกจากจะได้เครื่องอุปโภคบริโภค เข้าหน้าฝนนี้จะถึงฤดูกาลทำเกษตรกรรม ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าที่ได้จากฝั่งไทยมีอุปกรณ์การเกษตร เช่นหลวก จอบเสียมที่พ่อค้าแม่ค้าจะได้กลับไปขายในฝั่งลาว

ชายแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านลาว เอื้อประโยชน์กับการค้าเสรีที่เปิดโอกาสให้ผู้คนและสินค้าข้ามแดนในจังหวัดอุบลราชธานีได้ ผ่านทางด่านประเพณี ด่านผ่อนปรน และด่านพรมแดนสากล หากการศึกษาวิจัยชายแดนอีสานระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าด่านที่เป็นทางการอย่างช่องเม็ก ไม่ยืดหยุ่นกับผู้ค้ารายย่อยและชาวบ้านที่เคยข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันมานาน ส่งผลให้การค้าของคนพื้นที่ชายแดนดั้งเดิมซบเซาลง ไม่ลื่นไหลเท่ากลุ่มทุนค้าข้ามชาติขนาดใหญ่ การศึกษาพื้นที่ค้าชายแดนไทย-ลาว จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่หวังนำมาปรับแก้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน

ผศ.พฤกษ์ เถาว์ถวิล หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง MOU กับการจ้างแรงงานข้ามชาติลาว เผยว่า แต่เดิมก่อนมีด่านพรมแดนสากล ว่ากันว่าช่องเม็กแหล่งขุดทองของคนที่ต้องการจะตั้งตัว แต่ตอนหลังการข้ามไปมามันลำบาก เราก็นำข้อมูลมาดูว่าจะมีวิธีการยังไงให้พ่อค้าแม่ค้าคน 2 ฝั่งที่เขาค้าขายข้ามฝั่งกันไปมาอยู่ได้

ด้านสีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ในอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ชายแดนที่กำหนดให้วิจัยจากพื้นที่เป็นหลัก พบว่าการค้าชายแดนสามารถพัฒนาได้ แล้วก็นำผลจากการวิจัยมาปรับ

การขับเคลื่อนความรู้เกี่ยวกับเมืองชายแดนไทย-ลาว ผ่านโจทย์วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา ตรงกับเป้าหมายของจังหวัดอุบลราชธานี ที่หวังเปลี่ยนชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างเมืองน่าอยู่ เป็นประตูการค้า-การท่องเที่ยว และพัฒนาการเกษตร โดย 144 โครงการวิจัยตลอด 15 ปี เน้นทั้งด้านการค้า ข้าวปลาอาหารและการจัดการทรัพยากร โดยมีคนในท้องถิ่นทำงานวิจัยด้วยตนเอง เพื่อนำมาเป็นฐานพัฒนาพื้นที่ และคุณภาพชีวิตตามวิถีคนชายแดน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง