"ปณิธาน"ย้ำไทยช่วยเหลือโรฮิงญาตามหลักสากล-ตั้งศูนย์พักรอต้องพิจารณารอบคอบ

สังคม
18 พ.ค. 58
05:31
116
Logo Thai PBS
"ปณิธาน"ย้ำไทยช่วยเหลือโรฮิงญาตามหลักสากล-ตั้งศูนย์พักรอต้องพิจารณารอบคอบ

ที่ปรึกษารองนายกฯย้ำไทยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาตามหลักสากล ขณะที่การตั้งศูนย์พักรอต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อตั้งศูนย์พักพิงผู้อพยพได้อยู่ในไทยยาวนานและเป็นภาระส่ดท้ายก็มีการส่งกลับ พร้อมระบุการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญาถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญในการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน แต่ก็มีความละเอียดอ่อนในด้านการเมืองในแต่ละประเทศซึ่งต้องใช้เวลา พร้อมขอให้กองกำลังสหรัฐฯที่อยู่ในทะเลแปซิฟิกร่วมมือในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังการอพยพในน่านน้ำ

วันนี้ (18 พ.ค.2558) รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า การจัดการปัญหาชาวโรฮิงญาของไทยใช้วิธีเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในเอเชียอย่างออสเตรเลีย ซึ่งมีความจำเป็นต้องรักษากฎหมายในเรื่องของการเข้าเมือง ซึ่ง พ.ร.บ.การเข้าเมือง 2522 ไม่อนุญาตให้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่ในการผลักดันเนื่องจากการรับบุคคลเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ในการผลักดันจะต้องอยู่บนพื้นฐาน 2 หลัก คือ 1.หลักความปลอดภัยในทะเลซึ่งไทยเป็นภาคอยู่ และ 2.หลักมนุษยธรรม ในกรณีที่มีผู้เจ็บป่วย  หรือ เมื่อเด็ก ผู้หญิง คนชราไม่สามารถเดินทางต่อได้ก็จำเป็นต้องมีช่วยเหลือดูแลตามสมควร และหากพบว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ก็ต้องมีการคัดกรองเพื่อส่งไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งมีการดำเนินการมาโดยตลอด เพียงแต่ในบางช่วงการรายงานข่าวอาจทำให้ดูเหมือนไทยตกเป็นจำเลย

"ประเทศไทยไม่ใช้ต้นตอของสาเหตุ ไม่ใช่ปลายทางที่ชาวโรฮิงญาต้องการเดินทางไป สิ่งที่ไทยทำได้คือการประสานงาน การจัดประชุม การนำเสนอในฐานะประเทศที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอยู่หว่างการสรุปข้อมูลเพื่อเตรียมการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อให้นานาชาติรับทราบ" รศ.ปณิธาน

รศ.ปณิธาน กล่าวว่า เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สื่อสารไปยังต่างประเทศและองค์การสหประชาชาติแล้วว่า ประเทศไทยยินดีร่วมมือกับนานาชาติ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของไทยเนื่องจากเป็นปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ส่วนหนึ่งสหรัฐฯสามารถช่วยเหลือได้ทั้งการแจ้งเตือน เฝ้าระวัง ซึ่งสหรัฐฯมีกองกำลังขนาดใหญ่อยู่ในแปซิฟิกซึ่งสามารถแจ้งเตือนการหลบหนี การเข้าเมืองโดยเรือประมงลำใหญ่ที่ดัดแปลงได้

นอกจากนี้สหรัฐฯสามารถประสานงานกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศที่เรียกร้องควรที่จะลงมาทำงานร่วมกับไทยอย่างจริงจัง ซึ่งวันนี้ (18 พ.ค.2558) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและรับฟังปัญหาโดยเฉพาะการจัดตั้งพื้นที่พักรอเพื่อส่งกลับ ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการได้คือการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ขอความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชนในการจัดพื้นที่พักรอเพื่อส่งกลับ

 "ไทยเคยมีประสบกาณณ์มาแล้วถึงการจัดพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งกินเวลาหลายสิบปี ซึ่งไทยแบกภาระไม่ไหวและต้องส่งกลับอย่างเช่นกรณี ม้งลาว เป็นต้น แต่ในกรณีที่น่าเป็นห่วงของผู้ที่อยู่ในทะเลก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนตามความเหมาะสม"รศ.ปณิธาน

ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโรฮิงญาเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของอาเซียน ซึ่งมีการมองไปถึงความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ แต่ในส่วนสังคมและของความมั่นคงที่เกิดปัญหาอยู่ก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ก็จะส่งผลต่อความเป็นประชาคม ซึ่งส่วนหนึ่งต้องเข้าใจปัญหาของแต่ละประเทศซึ่งมีความละเอียดอ่อน ขณะที่ในการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.ที่จะถึงนี้ เจ้าหน้าที่ระดับปลัดกระทรวงก็จะมีประเด็นที่จะส่งต่อในระดับนโยบายในอนาคตทั้งการแจ้งเตือน การปราบปรามขบวนการเหล่านี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักในการเกิดเหตุครั้งนี้ ในระยะสั้นจะต้องช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาในทะเล ระยะยาวในเรื่องการเมืองของแต่ละประเทศต้องใช้กรอบใหญ่ของอาเซียน ซึ่งต้องดำเนินการปราบปรามการใช้เรือขนาดใหญ่ในการขนส่งชาวโรฮิงญาหลายร้อยคน

"เรือบางส่วนมีความผิดปกติ ทั้งขนาดที่ใหญ่กว่าเรือประมง อุปกรณ์ครบ ส่วนใหญ่จะไม่เข้ามาใกล้น่านน้ำไทย หรือใกล้เรือของเจ้าหน้าที่ การเดินทางมาหลายร้อยคนเป็นสิ่งผิดปกติส่วนใหญ่เครื่องยนต์เสีย ขณะที่เรือขนาดเล็กซึ่งผลัดหลงเข้ามามีผู้โดยสารบเรื่อประมาณ 80 คน อยู่ในสภาพอ่อนแรง ขาดน้ำ และอาหาร ในลักษณะเช่นนี้ก็ต้องช่วยเหลือและส่งกลับ ซึ่งต้องแยกแยะระหว่างการค้ามนุษย์และผู้ที่ผลัดหลงเข้ามา" รศ.ปณิธาน ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง