ชาวตุรกียังประท้วง-ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4

ต่างประเทศ
3 มิ.ย. 56
15:36
59
Logo Thai PBS
ชาวตุรกียังประท้วง-ก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4

ผู้ประท้วงในตุรกียังคงก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่อง เป็นวันที่ 4 ท่ามกลางความกังวล ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และนานาชาติ ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในตุรกียุติความรุนแรง

ช่วงเช้าที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นในตุรกี นครอิสตันบูลซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วง ยังคงมีประชาชนมาชุมนุมที่จตุรัส "ทักซิม" ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 และมีผู้ประท้วงบางส่วนปะทะกับตำรวจ ที่ปิดกั้นเส้นทางไม่ให้ผู้ประท้วง เข้าใกล้ทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางสกัดผู้ประท้วง

 
นายเรเซ็ป ทายยิป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรี ของตุรกี ออกมาแถลงอีกครั้งในวันนี้ โดยย้ำว่าผู้ประท้วงถูกฝ่ายค้าน และพวกหัวรุนแรงหลอกให้ออกมาชุมนุม ซึ่งผู้นำตุรกีเรียกผู้ประท้วงว่าเป็นพวกหัวขโมย
 
ด้านนายอับดุลลาห์ กูล ประธานาธิบดีของตุรกี เรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามกฏหมาย และแสดงความเห็นด้วยสันติวิธี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลรับรู้ถึงความไม่พอใจของประชาชนแล้ว จึงขอให้ยุติความรุนแรง ที่สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศ

ส่วนโครงการพัฒนาที่ดินในสวนสาธารณะใกล้กับจตุรัส"ทักซิม" จะเป็นไปตามแผนการเดิม โดยจะสร้างเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และมัสยิดแห่งใหม่ ซึ่งประเด็นเรื่องการสร้างมัสยิด สร้างความไม่พอใจให้ผู้ประท้วง ที่มองว่านายเออร์โดกัน ทำตัวเป็น"สุลต่านยุคใหม่" เป็นผู้นำเผด็จการ และพยายามจะเปลี่ยนตุรกี ให้กลายเป็นรัฐอิสลาม

 
การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่วันศุกร์ต่อเนื่องถึงวันนี้ โดยการประท้วงเกิดขึ้นใน 67 จังหวัด จากทั้งหมด 81 จังหวัดทั่วประเทศ แต่จุดที่รุนแรงที่สุด อยู่ในเมืองใหญ่อย่างนครอิสตันบูล กรุงอังการ่า และจังหวัดอิซเมียร์
 
รัฐมนตรีกลาโหมของตุรกีระบุว่า ตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วงที่ก่อเหตุรุนแรงมากกว่า 1,700 คน ขณะที่สำนักงาน"แอนดาลู"ของรัฐบาล ระบุว่า มีพลเรือนบาดเจ็บ 58 คนและเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 115 คน
 
จุดเริ่มต้นของการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของรัฐบาลด้วยการบุกเข้าไปนั่งประท้วงในจตุรัส "ทักซิม" ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะ "เกซี" พื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายของนครอิสตันบูล เพื่อขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตัดต้นไม้ทำลายสวนสาธารณะ เพื่อนำที่ดินไปสร้างศูนย์การค้า
 
แต่ทางการได้ใช้ความรุนแรงขับไล่คนกลุ่มนี้ จึงกลายเป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจ ให้ชาวตุรกีทั่วประเทศและนำไปสู่การชุมนุมเกือบทั้งประเทศ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อย่างองค์การนิรโทษกรรมสากล ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลตุรกี
 
ส่วนชาติพันธมิตรนาโต้อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลของนายเออร์โดกัน ใช้ความอดทนอดกลั้น เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ที่ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลตุรกี ที่ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมกับผู้ประท้วง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง