เกษตรฯต่อยอด “ยุทธศาสตร์กาแฟ” เพิ่มศักยภาพแข่งขันการค้ารับอาเซียน

สิ่งแวดล้อม
4 มิ.ย. 56
07:35
557
Logo Thai PBS
เกษตรฯต่อยอด “ยุทธศาสตร์กาแฟ” เพิ่มศักยภาพแข่งขันการค้ารับอาเซียน

เกษตรฯยกร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2557-2560 ต่อยอดของเดิม ยกระดับประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเอกลักษณ์กาแฟไทย พร้อมลดต้นทุนต่ำลง-เพิ่มผลผลิตให้สวนเดี่ยวสูงกว่า 300 ก.ก./ไร่ สวนผสมผสานมากกว่า 250 ก.ก./ไร่ เสริมศักยภาพการแข่งขันให้เกษตรกรในตลาดอาเซียน

 นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อขยายผลต่อยอดการพัฒนาการผลิตกาแฟไทยตามยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2552-2556 กรมวิชาการเกษตรจึงได้ยกร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2557-2560 ขึ้น เน้นพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และสู่ปลายน้ำ มีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงสวนกาแฟเสื่อมโทรมด้วยการตัดฟื้นต้นและตัดแต่งกิ่ง หรือปรับเปลี่ยนสวนเก่าโดยใช้กาแฟสายพันธุ์ดีและให้ผลผลิตสูง อาทิ กาแฟพันธุ์ชุมพร 84-4 พันธุ์ชุมพร 84-5 และพันธุ์ชุมพร 2 ทั้งยังมุ่งลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย หรือสูงกว่าไม่เกิน 10 %  

ทั้งยังตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของกาแฟที่ปลูกเป็นพืชเดี่ยวมากกว่า 300 กิโลกรัม/ไร่ หรือมากกว่า 250 กิโลกรัม/ไร่ในสวนที่ปลูกกาแฟเป็นพืชร่วม ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมการผลิตกาแฟเฉพาะถิ่นเป็นสินค้าประจำจังหวัด รวมทั้งส่งเสริมการผลิตกาแฟสำหรับตลาดพิเศษ(Niche market) พร้อมพัฒนาสวนกาแฟให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพี (GAP) เพิ่มมากขึ้น 50 % และยกระดับคุณภาพมาตรฐานสู่สากล ตลอดจนมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแปรรูปกาแฟ เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำสินค้ากาแฟของอาเซียนหรือตลาดเออีซี(AEC)ในอนาคต 

 
“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งจัดทำประชาพิจารณ์ต่อร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2557-2560 ในพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ และชุมพร เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จากนั้นจะปรับปรุงแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ฯเพื่อเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้พิจารณาประกาศเป็นยุทธศาสตร์กาแฟของประเทศต่อไป” นายสุวิทย์กล่าว
 
ด้านนางปิยนุช นาคะ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนการผลิตเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ชาวสวนกาแฟของไทยสามารถแข่งขันได้เมื่อเปิดตลาด AEC เนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญมีต้นทุนการผลิตต่ำ ประมาณ 35.40 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ไทยมีต้นทุนอยู่ที่ ประมาณ 46.47 บาท/กิโลกรัม ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องเร่งปรับลดต้นทุนให้ต่ำลง โดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมทั้งใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีและเหมาะสม มีการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เป็นต้น
 
เกษตรกรชาวสวนกาแฟโรบัสต้าส่วนใหญ่ยังขาดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ทั้งกาแฟสายพันธุ์ดี การจัดการดิน และการเขตกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแต่ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เฉลี่ยไร่ละ 136 กิโลกรัม ประกอบกับค่าแรงงานของไทยสูงกว่าคู่แข่งด้วย ส่วนกาแฟอาราบิก้ายังมีปัญหาเรื่องคุณภาพผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน การขยายผลต่อยอดยุทธศาสตร์กาแฟถือเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตกาแฟได้ พร้อมยกระดับคุณภาพมาตรฐานและสร้างเอกลักษณ์กาแฟไทย คาดว่า จะได้ผลผลิตกาแฟเพียงพอกับความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมกาแฟภายในประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับเกษตรกรและสินค้ากาแฟไทยในตลาดอาเซียนและตลาดโลก
 
นางปิยนุชกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ได้มีการโค่นต้นกาแฟ และปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นเพิ่มมากขึ้น  เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน  ลองกอง และทุเรียน ทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟของไทยแนวโน้มลดลงเหลือ ประมาณ 279,060 ไร่ ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 8.84 % โดยเฉพาะกาแฟโรบัสต้า ขณะที่พื้นที่ปลูกและผลผลิตกาแฟอาราบิก้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมบริโภคกาแฟอาราบิก้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขายได้ราคาดี” 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง