นั่งรถไฟเหาะ"ขาลง" ไปกับสินค้าโภคภัณฑ์

4 มิ.ย. 56
11:52
110
Logo Thai PBS
 นั่งรถไฟเหาะ"ขาลง" ไปกับสินค้าโภคภัณฑ์

โดย วิภพ เฉลียวจิตติกุล ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง

 ปรากฎการณ์ก่ายหน้าผาก พร้อมทั้งถอนหายใจ คงเกิดกับนักลงทุนทั้งหลายที่ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา น้ำตาล หรือแม้แต่น้ำมัน ถ่านหิน ยิ่งเมื่อแหงนมองดัชนีหุ้นไทยที่ทำ New High ในรอบ 17 ปี แต่ไฉนหุ้นโภคภัณฑ์หลายๆ ตัว ไม่ยักจะทำ New High ตามไปด้วย มิหนำซ้ำ หุ้นบางตัวยังทำ New Low ให้เจ็บช้ำเข้าไปอีก 

 
เมื่อหวนนึกถึงคำพูดของ จิม โรเจอร์ส ที่ว่า “Bottoms in the investment world don’t end with four-year lows; they end with 10- or 15-year lows.” (จุดต่ำสุดในโลกการลงทุนไม่ได้สิ้นสุดลงภายใน 4 ปี  มันอาจใช้เวลาถึง 10-15 ปีก็ได้)  แล้วต้องย้อนกลับมาคิดว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่หุ้นตัวนั้นอ้างอิงอยู่ จะมีตัวไหนที่เป็นแบบนี้หรือเปล่า 
 
หากดูจากตารางด้านล่างจะพบว่า สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายมีราคาในปัจจุบันที่ต่ำกว่าราคาสูงสุดในอดีตอยู่มาก  ซึ่งก็คือราคาขายของสินค้าเหล่านี้ และเมื่อราคาขายต่ำกว่าในอดีต กำไรสุทธิของบริษัทก็จะไม่เติบโตตามไปด้วย 
 
นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาหุ้นที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ ไม่สามารถทำ New High ได้
 
สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรน่าจะหาข้อมูลศึกษาได้ง่ายที่สุด เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสินค้าเกษตรหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา น้ำตาล  หรือข้าว (ถึงแม้จะสูญเสียความเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม) นักลงทุนจึงสามารถติดตามราคา หรือติดตามแนวโน้มสภาพภูมิอากาศได้ง่าย อย่างไรก็ตาม จุดด้อยหลักของสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรก็คือ ระยะเวลาที่ราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงได้นั้นค่อนข้างสั้น เนื่องจากเก็บเกี่ยวได้ทุกปี และในบางปีที่ผลผลิตออกมาดี บางประเทศก็จะสต๊อคเก็บไว้ 
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การขาดแคลนผลปาล์มดิบในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบปรับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงแถว 6 บาท/กก. ในขณะที่ปลายปี 2554 มีราคาอยู่ในระดับ 5 บาท/กก.และมีการขอปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม หลังจากถึงฤดูเก็บเกี่ยวในช่วง ก.ย.-พ.ย. ราคาผลปาล์มดิบได้ปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ  และเมื่อประเทศอินโดนีเซียกับมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีสต๊อคน้ำมันปาล์มดิบคงค้างอยู่ในระดับสูงมีนโยบายลดอัตราภาษีส่งออก ก็ได้ส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่า 4 บาท/กก.
 
สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงาน เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะพื้นฐาน เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี ดีบุก นิกเกิล ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ได้ดีไปกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรเช่นกัน  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความต้องการ (Demand) ที่ลดลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมัน (ปี 2555 นำเข้าน้ำมันมากถึง 271 ล้านตัน สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก) 
 
แร่เหล็ก ถ่านหิน และโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลกก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เพราะจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่ชะลอลง โดยล่าสุด IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตในปีนี้ 7.75% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยเป็นในอดีตตลอด 10 ปีก่อนที่เฉลี่ยประมาณ 10% เป็นอย่างมาก อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากความต้องการสินค้าของอเมริกาและยุโรปลดลงจากความซบเซาของเศรษฐกิจ 
 
ว่าไปแล้ว การลงทุนในหุ้นโภคภัณฑ์ทั้งหลายคงเปรียบได้กับการนั่งรถไฟเหาะ มีทั้งอารมณ์ตื่นเต้น สนุกสนานและอารมณ์เครียด อยู่ที่ว่ารถไฟเหาะกำลังอยู่ในช่วงไหน ซึ่งความผันผวนของรายได้และกำไรในแต่ละไตรมาส ที่ผันผวนไปตามราคาสินค้าอ้างอิงและนโยบายการสต๊อคสินค้าโภคภัณฑ์ของแต่ละบริษัท ทำให้การประเมินกำไรในแต่ละไตรมาสหรือในแต่ละปีเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก 
 
กว่าที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับมาทำ New High ได้อีกครั้งก็น่าจะใช้เวลาอีกหลายปี  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรจะอยู่ในระดับต่ำ แต่รัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการพยุงราคาด้วยวิธีการต่างๆ ประกอบกับสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงานอย่างน้ำมันที่อยู่ในระดับไม่สูงจนเกินไปก็มีข้อดีที่จะช่วยส่งผลบวกต่อกำลังการจับจ่ายใช้สอย และกำลังซื้อของประชาชน 
 
ดังนั้น บลจ.บัวหลวง จึงเน้นการลงทุนในหุ้นที่อิงกับการอุปโภคบริโภคในประเทศ เพราะกำไรของบริษัทเหล่านี้ไม่ผันผวนและสามารถคาดการณ์ได้  ซึ่งแม้ราคาหุ้นเหล่านี้ในตลาดจะให้ผลตอบแทนที่ไม่หวือหวาในบางปี แต่จะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอในระยะยาว
 
หมายเหตุ:  เนื่องจากทองคำถูกจัดกลุ่มเป็น Precious Metal ซึ่งมีคุณค่าในตัวของมันเอง เป็น store of value ใช้เป็นเงินสำรองของประเทศต่างๆ และมีปัจจัยที่กระทบหรือมีอิทธิพลที่แตกต่างจากหุ้นโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ทองคำจึงไม่ได้รวมอยู่ในบทความนี้ โดยบทความเกี่ยวกับทองคำจะแยกออกมาต่างหาก 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง