"สหภาพแรงงานตุรกี"ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาล

ต่างประเทศ
4 มิ.ย. 56
14:30
130
Logo Thai PBS
"สหภาพแรงงานตุรกี"ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาล

หลายฝ่ายมองว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตุรกี มีลักษณะคล้ายกับการปฏิวัติของประชาชน ในโลกอาหรับ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่วันนี้กลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 240,000 คน ประกาศจะเข้าร่วมการประท้วง

เช้าวันนี้สถานการณ์ในกรุงอังการ่า กลับเข้าสู่ความสงบ เจ้าหน้าที่เทศบาลช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดถนน ในขณะที่ตำรวจยังคงวางกำลังรักษาความปลอดภัย ตามจุดที่เคยเกิดการปะทะเช่นเดียวกับที่นครอิสตันบูล 
 
สถานการณ์โดยรวมกลับเข้าสู่ความสงบ แต่ตำรวจยังคงวางกำลังรักษาความปลอดภัย หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี ขณะที่เทศบาลส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บกวาด ซากความเสียหายที่เกิดจากการประท้วงในช่วง 4 วันที่ผ่านมา
 
แม้ว่าสถานการณ์จะดูสงบในช่วงเช้าแต่ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะสหพันธ์การค้า"เคสท์" ซึ่งมีสหภาพแรงงาน 11 แห่งเป็นสมาชิก และเป็นตัวแทนของคนทำงานประมาณ 240,000 คน ออกแถลงการณ์กล่าวโทษรัฐบาลว่า กำลังก่อการร้ายต่อประเทศ ด้วยการปราบปรามการประท้วงอย่างสันติของประชาชน ซึ่งทำให้ชีวิตของพลเมืองไม่ปลอดภัย
ซึ่งสมาชิกของสหภาพแรงงานทั้งหมดจะเข้าร่วมการประท้วงในวันที่ 4 - 5 มิ.ย.นี้ โดยการประท้วงจะเริ่มตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น
 
ด้านนายเรเซ็ปทายยิป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรี ของตุรกี ยังคงเดินทางเยือนโมร็อคโคตามกำหนดเดิม และได้กล่าวหลังเดินทางถึงโมร็อคโคว่าสถานการณ์ในตุรกีเริ่มดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อเขาเดินทางกลับประเทศ ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย ส่วนเรื่องที่มีการพูดกันว่าการประท้วงของประชาชนครั้งนี้ เป็นการปฏิวัติประชาชนแบบ"ตุรกี สปริง" ซึ่งคล้ายกับการปฏิวัติของประชาชนในโลกอาหรับ หรือ"อาหรับ สปริง"ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน
 
นายเออร์โดกันกล่าวว่า การประท้วงเป็นฝีมือของฝ่ายค้าน ที่ปลุกปั่นประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ออกมาประท้วง และคนที่บอกว่าเหตุการณ์นี้คือ"ตุรกี สปริง" แสดงว่าคนที่พูดไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตุรกีหลังเสร็จสิ้นการเยือนโมร็อคโคผู้นำตุรกีจะเดินทางต่อ ไปที่ประเทศแอลจีเรียและตูนิเซีย เพื่อเจรจาส่งเสริมการค้า
 
การปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงในช่วง4 วันที่ผ่านมา สมาคมแพทย์แห่งตุรกี ระบุว่า มีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทั่วประเทศ 3,195 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 26 คน และมีผู้เสียชีวิต 2 คน จุดที่เกิดการปะทะอย่างรุนแรงอยู่ในกรุงอังการ่า นครอิสตันบูล เมืองอิซเมียร์ และอดา-นัน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจาก"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ได้วิจารณ์ตำรวจตุรกี ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง
 
นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความกังวลใจกับข้อมูล ที่พบว่า ตำรวจตุรกีใช้ความรุนแรง ปราบปรามผู้ประท้วง โดยขอให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ประท้วง หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง