เปิดโครงการตรวจวัด"คาร์บอนป่า" ชู "ไลดาร์" พัฒนาแผนที่ป่าครั้งแรกใน"อาเซียน"

สิ่งแวดล้อม
6 มิ.ย. 56
11:16
247
Logo Thai PBS
เปิดโครงการตรวจวัด"คาร์บอนป่า" ชู "ไลดาร์" พัฒนาแผนที่ป่าครั้งแรกใน"อาเซียน"

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ TREEMAPS (Tracking Reductions in Emissions through Enhanced (carbon) Monitoring and Project Support) ตรวจ"วัดคาร์บอนป่า รักษาระบบนิเวศ"

 โดยมีนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนหน่วยงานของประเทศไทยเป็นประธานร่วมกับ ดร. อิงโก้ วิงเคิลมันน์ อุปทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณโครงการ และนายเพชร มโนปวิตร ผู้จัดการงานอนุรักษ์ประเทศ กองทุนสัตว์ป่าโลกไทย ที่่โรงแรมรามาการ์เด้นส์  

 
โครงการ TREEMAPS เป็นโครงการสำรวจคาร์บอนของผืนป่าในประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่าผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสามารถในการกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้เท่าใด โดยมีวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ การจัดทำแผนที่คาร์บอนแห่งชาติ ซึ่งจะจัดทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลทางภาพพื้นดินซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย โดยจะนำเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR - Light Detection And Ranging) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตรวจวัดระยะไกลที่มีความแม่นยำสูงสุดในขณะนี้ มาใช้ในพัฒนาการจัดทำแผนที่คาร์บอนของผืนป่าในประเทศไทย โดยนำอุปกรณ์เลเซอร์สแกนติดตั้งบนเครื่องบิน เพื่อบินสำรวจผืนป่าและทำการบันทึกภาพโครงสร้างของผืนป่าในรูปแบบภาพถ่าย 3 มิติ ซึ่งภาพที่ได้จาก LiDAR จะช่วยให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของผืนป่าได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถตรวจวัดระดับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ด้วยความริเริ่มของกองทุนสัตว์ป่าโลก 
 
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง กรมอุทยานฯ กล่าวว่า โครงการ TREEMAPS ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ใส่ใจการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ด้วย การส่งเสริมให้คนปลูกป่าเพื่อเป็นตลาดคาร์บอนเครดิตให้พวกเขาได้ ในขณะเดียวกัน บริการทางด้านนิเวศอื่นๆ เช่น การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การอนุรักษ์สัตว์ป่า ครอบคลุมอยู่ในวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่เราต้องทำให้ทุกด้านดีขึ้นด้วย
 
สำหรับโครงการ TREEMAPS จะเริ่มสำรวจนำร่องในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง และเป็นผืนป่าที่องค์การ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีระบบนิเวศป่ามรสุมที่มีความสำคัญในระดับโลก และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากว่า 800 สายพันธุ์ รวมทั้งเสือ ช้าง และชะนี  ผืนป่าแห่งนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการตัดไม้ทำลายป่า และการบุกรุกผืนป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปถึง 577,000 เฮคเตอร์ (ประมาณ 3,606,250 ไร่) คิดเป็นอัตราส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 0.15% ต่อปี แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนของการเสื่อมโทรมของป่าไม้ 
 
เมื่อปี 2554 องค์การยูเนสโกได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งโครงการ REDD+ เป็น หนึ่งในข้อเสนอแนะหลัก เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น การวางแผนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ และแบ่งปันข้อมูลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปใน อนาคต 
 
สำหรับการเตรียมความพร้อมโครงการเรดด์พลัส REDD+ () ซึ่งย่อมาจาก Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks in Developing Countries เป็นความริเริ่มของสหประชาชาติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนด้วยการปลูกป่าเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ได้เสนอโอกาสให้ไทย ในการรับความสนับสนุนทางด้านเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศต่อไป แต่การจะได้รับประโยชน์จาก REDD+ และการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกลไกนี้ ประเทศไทยต้องมีระบบการวัดและติดตามการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอนในผืนป่าที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (IPCC) 
 
นายจัสติน ฟอสเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการ TREEMAPS WWF ประเทศไทย ระบุ  WWF นำ เทคโนโลยีไลดาร์มาช่วยสำรวจคาร์บอนในป่า เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนที่ฐานปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในผืนป่า และมีระบบการติดตามปริมาณคาร์บอนที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังสร้างเครื่องมือบนเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ และเสริมสร้างความมีส่วนร่วมในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการวัดปริมาณคาร์บอนในป่าที่ประเทศไทยใช้ เป็นวิธีการที่ยังไม่สามารถให้ตัวเลขที่ชัดเจนในระดับที่ REDD+ กำหนดไว้ได้ โดยโครงการ TREEMAPS ได้รับงบประมาณสนับสนุนหลักจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ภายใต้กรอบโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (International Climate Initiative - ICI)  
 
ทั้งนี้โครงการ TREEMAPS คาดจะมีส่วนร่วมในการปกป้องผืนป่า เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์จากกลไก REDD+ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และบทเรียนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ประเมินผลประโยชน์ตอบแทนทางธรรมชาติ เช่น ระบบนิเวศบริการ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พร้อมสร้างโอกาสให้คนไทย ใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนได้สูงสุด 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง