กทค. เห็นชอบร่างประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ กรณีสัญญาสัมปทาน สิ้นสุด

Logo Thai PBS
กทค. เห็นชอบร่างประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ กรณีสัญญาสัมปทาน สิ้นสุด

 นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมและเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว ตามที่อนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอบอร์ด กสทช. ให้ความเห็นชอบก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยให้นำข้อสังเกตของที่ประชุม กทค. เป็นประเด็นร่วมในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย 

 
ผลการพิจารณา กทค. ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อสิ้นสุดสัญญาการให้บริการ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคมใดแล้ว ให้รัฐวิสาหกิจต้องคืนคลื่นความถี่ที่ให้บริการ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่โดยระบบใบอนุญาตต่อไป ในการเตรียมการรองรับและเพื่อให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการรวมถึงเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองผู้ใช้บริการ และในระหว่างช่วงเวลาที่การจัดสรรคลื่นความถี่แก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ กสทช. จึงเห็นสมควรกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลง 
 
ทั้งนี้ตามมาตรา 47 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติให้ กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และมาตรา 27 (4) (6) และ (13) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม รวมถึงมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด 
 
ส่วน ตามมาตรา 84 ประกอบกับมาตรา 83 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดระยะเวลาในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) ของ กสทช. ให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ 
 
นายก่อกิจ กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ครั้งที่ 3/2556 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2556  ได้เชิญหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการทั้งฝ่ายผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทาน อันได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดย นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงไอซีที  กสท โทรคมนาคม โดยนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอและบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด โดยนายวิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอ  เข้าประชุมหารือแนวทางดำเนินการการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz ของ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค แนวทางการเยียวยาผู้บริโภค และการประชาสัมพันธ์ถึงการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน “ที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องปรับความเข้าใจสอดคล้องกัน ซึ่งต่อจากนี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการ รวมถึงตัวแทนผู้บริโภคหารือเป็นระยะๆ
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง