ถนนทุกสายมุ่งสู่ "ประเทศพม่า"

6 มิ.ย. 56
12:01
66
Logo Thai PBS
ถนนทุกสายมุ่งสู่ "ประเทศพม่า"

เนื่องจากผู้นำด้านเศรษฐกิจจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันในกรุงเนปิดอว์เมืองหลวงของเมียนมาร์ คนไทยเรียก พม่า เพื่อร่วมประชุม World Economic Forum ในสัปดาห์นี้ ทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ ล้วนแต่จ้องมองหาโอกาสทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในพม่า

 สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเองก็มองเห็นถึงความสนใจที่บริษัทต่างๆ จากทั่วโลกและจากหลากหลายธุรกิจมีต่อพม่าเช่นกัน ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปได้ยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า นั่นยิ่งทำให้บริษัทต่างๆ จากยุโรปที่ล้วนหิวกระหายการเติบโตทางธุรกิจยิ่งมองพม่าเป็นเป้าหมายแห่งใหม่ที่จะช่วยชดเชยอุปสงค์ที่ตกต่ำในยุโรป 

 
บริษัทต่างชาติล้วนเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอันกว้างใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยประชากรวัยหนุ่มสาวแห่งนี้มานานแล้ว – ด้วยประชากรกว่า 60 ล้านคนใกล้เคียงกับประเทศไทย พม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือป่าไม้ และยังตั้งอยู่บนชัยภูมิที่ดีระหว่างจีนและอินเดีย อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งจะมีพม่าก้าวขึ้นเป็นประธานกลุ่มประชาคมในปีหน้า 
 
นับว่าพม่าเปิดประเทศได้เร็วกว่าที่คาดไว้มาก ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลให้ความสำคัญในการปรับปรุงด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการสร้างงาน และยกระดับรายได้ในประเทศ การผ่านกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร 
 
ในปีนี้ พม่าคืบหน้ายิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเชิญบริษัทโทรคมนาคมระดับโลกมาร่วมประมูลเพื่อการลงทุนระบบโทรศัพท์ทั่วประเทศ ขณะนี้พม่าเป็นประเทศที่มีความต้องการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะขณะนี้มีประชากรไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีโทรศัพท์มือถือ และการเชื่อมต่อด้านโทรคมนาคมที่ก้าวกระโดดนี้เองที่จะเป็นตัวเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ 
 
ขณะนี้พม่าอยู่ระหว่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่งซึ่งรวมถึง ‘ดาเวย’ ซึ่งจะเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ และ ‘ทิลาวา’ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใกล้ย่างกุ้งซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเมืองที่เฟื่องฟูที่สุดในเอเชีย เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นและไทยทั้ง 3 แห่งนี้ นับเป็นความหวังในการสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นแหล่งดึงดูดด้านการค้าและการลงทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย 
 
ผู้คนที่ได้ไปเยือนพม่าคงเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว ห้องพักในโรงแรมที่เคยว่างเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ถูกจองเต็มด้วยราคาที่สูงขึ้น 4-5 เท่า เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มจะคึกคัก ตู้กดเงินสดซึ่งเคยเป็นสิ่งที่หายาก ปัจจุบันนี้หลังจากที่สองบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ตกลงดำเนินธุรกิจร่วมกัน ก็สามารถกดเงินจ๊าดจากตู้กดเงินสดจำนวนนับสิบในเมืองใหญ่ๆ โดยใช้บัตรวีซ่าหรือมาสเตอร์ 
 
การพัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้รัฐบาลเห็นความสำคัญที่บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศและนำความรู้ต่างๆ ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่ดีอีกเรื่องก็คือ การพยายามสร้างระบบการเงิน ซึ่งขณะนี้เมียนมาร์กำลังมองหาความช่วยเหลือและคำแนะนำจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือแม้กระทั่งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเองก็ตาม 
 
แม้ลูกค้าหลายรายจะบอกเราว่า การดำเนินธุรกิจในพม่ายังทำได้ยาก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบการเงิน มีคนจำนวนไม่มากที่มีบัญชีเงินฝาก และสาธารณูปโภคที่รองรับการโอนเงินยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่างๆ และการขาดแคลนบุคลกรที่มีทักษะ นอกจากนั้น ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐอเมริกายังคงคว่ำบาตรพม่า และนั่นมีผลรวมไปถึงการคว่ำบาตรด้านบริการทางการเงินด้วย 
 
แม้ปัจจุบันการค้าระหว่าง 2 ประเทศจะถูกกำหนดโดยสกุลเงินดอลลาร์ แต่ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะยังคงอยู่จนกว่าสหรัฐฯ จะยุติการคว่ำบาตรเช่นที่ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปทำไปแล้ว นั่นทำให้นักลงุทนทั้งจากสหรัฐฯ และจากที่ต่างๆ ก็จะยังคงหวั่นใจที่จะลงทุนในพม่าอย่างเต็มที่ 
 
หากกล่าวถึงความท้าทายต่างๆ ที่ยาวเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย แต่เราทุกคนก็ไม่ได้หวังว่าพม่าจะเปลี่ยนแปลงได้ภายในชั่วข้ามคืนหลังจากถูกโดดเดี่ยวมากว่า 5 ทศวรรษ กระบวนการประชาธิปไตยต้องใช้เวลาและจำเป็นที่ประเทศต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูป 
 
ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องดำเนินเพื่อความยั่งยืน ไม่ใช่นำมาแต่ความเปลี่ยนแปลงเพียงเพราะจำเป็นต้องเปลี่ยน แต่ควรเปลี่ยนเพื่อ ‘สังคมที่ดีกว่า’ เช่นที่เคยกล่าวไว้โดยอองซาน ซูจี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN 100 Leadership Forum) ที่จัดขึ้นในกรุงย่างกุ้ง 
 
สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้นั่นก็คือ พม่าจะไม่ถอยหลังกลับแน่นอน และยังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่างเกิดขึ้น นั่นเพราะขณะนี้พม่ากำลังเร่งกวดให้ทันเพื่อนบ้านอื่นในอาเซียนอยู่ 
 
จีดีพีของพม่าโตร้อยละ 6.5 เมื่อปีงบประมาณที่ผ่านมา และจะโตเป็นร้อยละ 6.75 ในปีนี้ตามที่คาดการณ์โดย IMF การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโตขึ้น 5 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์ เราเชื่อว่าการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากการลงทุนจะกระจายตัวจากภาคพลังงานไปสู่ภาคการผลิต การท่องเที่ยว การเกษตร และภาคการเงินการธนาคาร นั่นเพราะบริษัทข้ามชาติต่างก็มองเห็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในพม่านั่นเอง 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง