"อดีตที่โหยหา" ในนิทรรศการ "การเดินทางของห้วงเวลาแห่งความทรงจำ"

Logo Thai PBS
"อดีตที่โหยหา" ในนิทรรศการ "การเดินทางของห้วงเวลาแห่งความทรงจำ"

เปลี่ยนความสุขในวันวานที่โหยหาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานศิลปะ ที่สองศิลปินแสดงออกด้วยเทคนิคต่างกันไป หวังให้ผู้ชมยอมรับปัจจุบัน แต่ใช้อดีตเป็นพลังสร้างสรรค์ ในนิทรรศการการเดินทางของห้วงเวลาแห่งความทรงจำ

เติบโตมากับครอบครัวใหญ่ แต่วันหนึ่งการตายจากหรือแยกทางกันไปทำให้ครอบครัวเล็กลง และไม่อบอุ่นเหมือนเคย แม้ยอมรับได้กับปัจจุบัน แต่สำหรับศิลปิน "รัฐ พานิชเจริญผล" อดีตที่ยังคิดถึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ให้เขียนภาพสีน้ำมัน รูปหุ่นที่เต็มไปด้วยริ้วรอย และถ้วยชามแตกบิ่น แทนสรรพสิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปตามเวลา โดยใช้เทคนิคการกดสีด้วยเกรียง จนเกิดพื้นผิวหยาบหรือหนักเบาตามความรู้สึกจริง ซึ่งเป็นผลงาน 1 ใน 2 ศิลปินผู้เปลี่ยนวันวานที่โหยหาเป็นพลังสร้างสรรค์ ในนิทรรศการการเดินทางของห้วงเวลาแห่งความทรงจำ

 
รัฐ พานิชเจริญผล ศิลปิน บอกเล่า ความสัมพันธ์ที่ต้องพบแล้วจากไป คนยุคนี้ดูแลกันตามหน้าที่สังคมไม่เหมือนพี่น้อง
 
นิทรรศการนี้ เกิดการรวมตัวของศิลปิน 2 คนที่โหยหาอดีตเช่นเดียวกัน ต่างกันก็ตรงที่คนหนึ่งใช้สีที่หนักกว่า และใช้เทคนิคการกดสี ส่วนอีกคนนึงใช้เทคนิคการสกรีนลาย และสีที่สดใสกว่า

    

 
ภายใต้รูปคนที่เพ้นท์ด้วยสีน้ำมัน ยังซ่อนลวดลายซ้ำๆ เป็นพื้นหลัง จากเทคนิคสกรีนลายด้วยแม่พิมพ์ผ้าไหมกว่า 100 บล็อค แทนการย้ำคิดถึงความรักที่ผิดหวังแต่ยังติดแน่นในความทรงจำของ "กมล หอมกลิ่น" หยดน้ำตาจากก้อนเมฆ อีกาที่ขู่ร้องและคิวปิ้ดที่ไม่แผลงศร ในภาพ "ข้อความนามธรรมที่ส่งถึง" อาจไม่ให้ความหมายโดยตรง แต่ศิลปินตั้งใจให้ภาพนี้เป็นดั่งกวีที่ไม่ถูกฉันทลักษณ์แต่เขียนขึ้นจากจิตใต้สำนึก โดยยังใช้รูปชายผมสั้นหยักโศกแทนตัวเองที่อยู่ในโลกแห่งความเพ้อฝันจากความทรงจำที่ย้อนคืน ซึ่งกมล หอมกลิ่นศิลปิน บอกว่า ตนเองใช้กวีมาเป็นนัยยะของภาพเพื่อสร้างโลกสมมติ
 
ด้าน ผศ.วุฒิกร คงคา ศิลปินผู้เข้าชมนิทรรศการ กล่าวว่า ทั้งสองต่างที่เทคนิคแต่โดดเด่นเรื่องเอาความทรงจำมาสร้างสรรค์ 
 
ผลงานศิลปะจากสองศิลปิน ต่างเทคนิคต่างเรื่องราวแต่มีความโหยหาอดีตเป็นแรงบันดาลใจ จัดแสดงในนิทรรศการ การเดินทางของห้วงเวลาแห่งความทรงจำ ถึงวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง