รามัญสัญจร สำเนียงมอญนนทบุรี

Logo Thai PBS
รามัญสัญจร สำเนียงมอญนนทบุรี

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบางแห่ง อาจพร้อมต้อนรับคนภายนอกเพียงเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่สำหรับที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ในทุกวันจะได้เห็นวิถีมอญ ที่สืบทอดมาไม่น้อยกว่า 200 ปี

ยังจำได้ดีถึงวิธีการบอกบุญชาวบ้าน ผ่านเรือเจ้าขาวล่องตามลำคลองบนเกาะเกร็ดกลางน้ำเจ้าพระยาในทุกงานบุญ ทั้งทอดกฐิน-ผ้าป่า และวันออกพรรษา แสดงสามัคคีและศรัทธาที่มีต่อพระศาสนาของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ ทวีวรรณ สงวนนาม แม่เพลงพื้นบ้านมอญที่รับสืบทอดมากว่า 50 ปี และนำมาสาธิตในงานรามัญสัญจร สำเนียงมอญนนทบุรี ให้เห็นเอกลักษณ์บทเพลงเจ้าขาว เพลงเรือเก่าแก่ของชาวเกาะเกร็ดที่ปฏิบัติเป็นประเพณีจนถึงวันนี้

 
ทวีวรรณ สงวนนาม แม่เพลงพื้นบ้านมอญ จ.นนทบุรีความที่เกาะเกร็ดล้อมไปด้วยน้ำ เวลาใกล้มีงานบุญ เราก็จะไปทางเรือล่องไปบอกบุญ มีขันรับข้าวสาร รับสตางค์ อีกคืนก่อนถึงวันงานจะไปคลองบางบัวทองหรือคลองขนมหวานขอผักจากสวนผัก
 
เดิมเกาะเกร็ดเป็นแหลมของแผ่นดิน ที่เกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเกือบ 300 ปีที่แล้ว จนกลายสภาพเป็นเกาะที่ทั้งชาวไทย ผู้มีเชื้อสายมอญ และมุสลิมอยู่ร่วมกันมานาน โดยมีเจดีย์มุเตา จำลองแบบมาจากมหาเจดีย์ชเวมอดอในหงสาวดีเป็นสัญลักษณ์ศรัทธาของชาวมอญ ที่นี่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมากว่า 15 ปี ที่ชาวบ้านยังคงรักษาประเพณีตามวิถีเดิมไว้ 
 
ในงานรามัญสัญจรสำเนียงมอญนนทบุรีในวันนี้ มาฟังเสียงของคนไทยเชื้อสายมอญ และดูวิถีชีวิตของชาวบ้านเกาะเกร็ด เกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าใช้เวลาเดินเที่ยวไปรอบๆ จะเป็นระยะทางราว 5 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้เห็นภูมิปัญญาในการทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ตกทอดอยู่ที่นี่

  

    

 
เปลี่ยนดินธรรมดาให้มีมูลค่าขึ้นมาด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบชาวมอญเกาะเกร็ด สุทัตตา ฤทธิ์เดช ทายาทมอญวัย 40 ปี สืบต่องานปั้นอยู่ในโรงปั้นรุ่นที่ 4 ของครอบครัว ทำทั้งโคมไฟสลักลายสวยงาม จาน ชาม หม้อดิน โดยมีโรงปั้นเป็นแหล่งผลิต ค้าขาย และให้ความรู้พร้อมฝึกปฏิบัติจริงกับช่างปั้นและผู้สนใจ แม้ไม่ได้ปั้นโอ่ง-อ่างใบใหญ่เช่นในอดีตที่เคยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาค้าขาย แต่นี่คือความภูมิใจที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ พร้อมรักษาอาชีพบรรพบุรุษ     
 
สุทัตตา ฤทธิ์เดช ช่างปั้นเครื่องปั้นดินเผา จ.นนทบุรี ทำมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยาย บอกว่า อาจไม่ได้มีโอ่งอ่างใบใหญ่ๆ มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ทำให้มีงานศิลปะแกะลายใหม่ๆ ขึ้นมาจากดินในบ่อธรรมดาๆ มาเป็นเครื่องปั้น ด้านวิโรจน์ แซ่เตียว ผู้ร่วมกิจกรรมรามัญสัญจร เล่าว่า เคยมาเที่ยวเองหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นว่าในศาสนาที่เขานับถือ ในวิถีชีวิตมันมีสิ่งดีๆ ที่รับสืบทอดกันมานาน
 
ปติสร เพ็ญสุต ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า มาเที่ยวธรรมดาอาจจะเที่ยวไปแบบฉายฉวยมากินข้าวแช่ไหว้พระแล้วก็กลับ แต่มาแบบนี้เราเห็นว่าชาวมอญเกาะเกร็ดยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีของเขาไว้ได้อย่างลึกซึ้ง
 
เกาะเกร็ดมีพื้นที่เพียง 4 ตารางกิโลเมตร หากเต็มไปด้วยวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ติดต่อกับภายนอกได้เพียงทางน้ำ ยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมถิ่น ผ่านลานวัฒนธรรมริมน้ำในพื้นที่ ตลอดจนสอนศิลปการแสดงเพลงพื้นบ้าน และงานตัดกระดาษให้กับเยาวชน เพื่อสืบทอดเอกลักษณ์มอญนนทบุรี   


ข่าวที่เกี่ยวข้อง