วิกฤติขาดแคลนช่างสกุล"นครศรีธรรมราช" แห่งศิลปะเครื่องถมเงิน-ทอง

9 มิ.ย. 56
15:34
475
Logo Thai PBS
วิกฤติขาดแคลนช่างสกุล"นครศรีธรรมราช" แห่งศิลปะเครื่องถมเงิน-ทอง

เครื่องถมเงิน ถมทองศิลปะชั้นสูงของสกุลช่างนครศรีธรรมราช กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติไม่มีช่างฝีมือรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจกับงานฝีมือศิลปะแขนงนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันการสืบทอดสายสกุลช่างเริ่มลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ ทำให้งานหัตถกรรมเครื่องใช้และเครื่องประดับชั้นสูงชนิดนี้เริ่มส่งผลกระทบงานฝีมือทำด้วยมือล้วนจึงมีน้อยลง

 ช่างฝีมือบรรจงสลักลายลงบนแผ่นโลหะเงิน ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นของการผลิตเครื่องถมงานศิลปหัตกรรมชั้นสูงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจากการใช้ลวดลายแบบไทยสลักลงบนโลหะมีค่า อย่างเงินและทองทำให้งานศิลปหัตถกรรมประเภทนี้สูงทั้งมูลค่าและมีคุณค่า

 
เครื่องถมเงินและเครื่องถมทอง นครศรีธรรมราช เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีการสืบทอดผ่านสายสกุลช่างเมืองนครศรีธรรมราช มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปีในอดีตใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการส่งไปถวายแด่กษัตริย์หรือเจ้าเมืองต่างๆ
 
เครื่องถม ที่ออกสู่ท้องตลาดมีอยู่หลายระดับ ตามฝีมือของช่างผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน และคุณภาพของโลหะ แต่ปัญหาจากการขาดแคลนช่างฝีมือ ทำให้สินค้าที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมแท้ๆ ถูกแทนที่ด้วยสินค้าที่ผลิตโดยเครื่องจักร ซึ่งพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่กลับมีคุณค่าเทียบไม่ได้กับสินค้าที่ผลิตโดยช่างฝีมือ 
 
รายได้จากการผลิตชิ้นงานที่มีค่าตอบแทนไม่สูงมากนัก ทำให้ปัจจุบันสายสกุลช่างเครื่องถมนครศรีธรรมราช กำลังลดจำนวนลง ทำให้ช่างฝีมือที่เหลืออยู่ในขณะนี้ต่างวิตกกังวลว่าอีกไม่นานงานฝีมือประเภทนี้อาจจะสูญหายไปเพราะไม่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดต่อ เพราะมองว่างานช่างซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษไม่สามารถสร้างฐานะให้ร่ำรวยได้
 
ปัจจุบันมีเพียงวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เพียงแห่งเดียวที่ยังคงเปิดสอนในสาขาวิชาช่างเครื่องถมชั้นสูง โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้วพบว่ามีนักศึกษาที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เป็นจำนวนกว่า 120 คน แตกต่างกับปัจจุบันที่มีนักศึกษามาเข้าสมัครเรียนในสาขาวิชานี้ เพียงแค่ 11 คนเท่านั้น
 
เครื่องถมแต่ละชิ้นมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยบาท ไปจนถึงหลายแสนบาท อาทิ สำรับหมากพลูชุดใหญ่ มีราคากว่า 400,000 บาท ในขณะที่ช่างถมฝีมือดีมีรายได้ตั้งแต่ 25,000 บาท - 50,000 บาท
 
ซึ่งรายได้ในระดับนี้ ผู้บริหารวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เชื่อว่า จะเป็นแรงจูงใจให้คนมีรุ่นใหม่เข้ามาเรียนในสาขาวิชาชีพนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ในอนาคตจะมีนักศึกษาเพียงคนเดียวที่สนใจเรียนวิชาช่างเครื่องถม แต่วิทยาลัยก็จะยังคงเปิดสอนในสาขาวิชาชีพนี้ต่อไป ตามแนวพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2508 โดยทรงมีพระราชดำรัส ความว่า “จงรักษาศิลปะของชาติ อันนี้ ไว้ให้ดี” 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง