ประเมินเปิดให้บริการ 3จี ครบ 1 เดือน ผู้บริโภคเจอปัญหา"บริการ-โปรโมชั่น"ใหม่

Logo Thai PBS
ประเมินเปิดให้บริการ 3จี ครบ 1 เดือน ผู้บริโภคเจอปัญหา"บริการ-โปรโมชั่น"ใหม่

พบลูกค้าโอนย้ายเอไอเอส แตะ 2 ล้าน ส่วนทรูและดีแทค กว่า 1 ล้าน ลูกค้าถามข้อสงสัยการให้บริการ และโปรชั่นใหม่มาก

 ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสนเทศ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดงานเสวนา จิบน้ำชา “เปิดเรือน 1 เดือน 3 จี  2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อประมวลปัญหา และการให้บริการ 3 จี คลื่น 2,100 เมกกะเฮิร์ซ หลังจากทั้ง 3 ค่ายเปิดให้บริการ โดยเอไอเอส เปิดบริการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม , ค่ายทรู วันที่ 8 พฤษภาคม  และ ดีแทค เปิดตัวแบรนด์วันที่ 9 พฤษภาคม   

 
นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดและการขยาย  เอไอเอส ระบุว่า  การเปิดให้บริการในช่วง  1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีลูกค้าโอนย้ายมาเครือข่าย 2,100 เมกกะเฮิร์ซ  จำนวน 2 ล้านคน  ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เปิดพื้นที่ให้บริการเพิ่มอีก 5 จังหวัด โดยมีงบลงทุนรวม 7 หมื่นล้านบาท ภายในเวลา 3 ปีแรกที่เปิดให้บริการ
ส่วนปัญหาการให้บริการที่บริษัทพบ  คือ ความหนาแน่นในการใช้ ด้านการโทรเข้าโทรออก,
 
ข้อจำกัดการใช้บริการบางประเภท  และข้อมูลที่ลูกค้าตั้งค่าในการใช้เครือข่ายใหม่ และปัญหาการใช้โรมมิ่งในบางประเทศไม่ได้
 
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการใช้ความเร็วดาต้า ที่พบว่ามีความเร็วช้าลงเมื่อใช้บริการถึงจำนวนที่จำกัดไว้ในโปรโมชั่น ซึ่งขอชี้แจงว่า เป็นเรื่องในการให้บริการของภาพรวมอุตสาหกรรมตลาดโทรคมนาคม ที่มีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งหากไม่ลดความเร็ว ก็จำทำให้เกิดจราจรหนาแน่น และลูกค้าอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้การลดความเร็วอยู่ในเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด นอกจากนี้ ลูกค้ายังสอบถามเกี่ยวกับปัญหาใช้ 3 จีใหม่ไม่ได้ในบางพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับปัญหาการให้บริการบริการที่ยังไม่คลอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้ง ปัญหาแบตเตอรี่หมดไว เนื่องจากการโหลดข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ให้บริหาร หรือ จังหวะที่มีการสลับสลับระหว่าง 3 จีใหม่ กับ 2 จีเดิมก็จะใช้พลังงานมากกว่าปกติ
 
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ระบุว่า ขณะนี้การให้บริการ 3 จี ของทรู ที่ไม่ใช่คลื่น 2,100 ถือว่าครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด แล้วหลังจากเปิดให้บริการมาเกือบ 2 ปีแล้ว บนคลื่น 850 เมกกะเฮิร์ซ แต่การให้บริการบนคลื่น 2,100  จะใช้ผสมกับการให้บริการร่วมกับคลื่น 850   
 
โดยทรู มีแผนติดตั้งเสา คลื่น2,100 ครอบคลุม 5,000 สถานีฐาน พร้อมกับนำเทคโนโลยี แอลทีอี มาใช้เพื่อเพิ่มความเร็วในการใช้งาน และลงทุนเสา อีก 2,000 สถานีฐาน ในระยะแรกเน้นให้บริการกรุงเทพชั้นใน โดยภาพรวมขณะนี้มีลูกค้าโอนย้ายมาใช้บริการแล้วประมาณ 1 ล้านคน หรือมีลูกค้าขอโอนย้ายเฉลี่ย 8,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นลูกค้าใหม่ที่ย้ายมาจากค่ายอื่นร้อยละ 30 ซึ่งลูกค้า 1 คน จะใช้เวลาโอนย้ายเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยลูกค้าเดิมไม่ต้องเปลี่ยนซิม ยกเว้นผู้ที่ต้องการใช้แอลทีอี 4 จี ต้องเปลี่ยนซิมใหม่
 
ส่วนประเด็นข้อร้องเรียน ขณะนี้มีไม่มาก  ซึ่งลูกค้าที่สอบถามข้อมูลร้อยละ  50  เกี่ยวกับศูนย์ให้บริการ , สอบถามการตั้งค่าบริการ 3 จี และเครื่องรุ่นไหนใช้บริการได้บ้าง เฉลี่ยร้อยละ 30 และ อีกร้อยละ 20 ถามว่าพื้นที่ไหนใช้ได้บ้าง รวมถึงการจับสัญญาณไว-ไฟทรู
 
และยังพบว่ามีการร้องเรียน เกี่ยวกับอัตราค่าบริการ เนื่องจากลูกค้าซี่งทรูให้บริการมา 2 ปี พอมาใช้บริการเครือข่าย 3 จีใหม่ ก็เกิดความสับสนในการเลือกใช้โปรโมชั่น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่เข้าใจเรื่อง 3 จีเป็นอย่างดี  นอกจากนี้ พบว่าลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับการใช้งาน และความเร็วในการดาวโหลดหายไป  ซึ่งบริษัทได้ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ยังเพิ่มการขายด้านตลาดโดยการร่วมมือกับบริษัทที่จำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟน  เพื่อจำหน่ายเครื่องในราคาถูก เริ่มต้นประมาณ 1 พันกว่าบาท เพื่อรองรับลูกค้าที่มีความต้องการมากขึ้น  
 
สำหรับการปรับลดอัตราค่าบริการลงร้อยละ 15 ยอมรับว่า แม้ทรูจะปรับลดราคาลงมา แต่ลูกค้าอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่โปรโมชั่นที่เห็นชัดเจนอยู่แล้ว เช่น 899 บาท ก็จะปรับลดเหลือ 745 บาท ส่วนแพคเกจใหม่ ก็ต้องออกมาให้สอดคล้องกับนโนบายของ กสทช.อยู่แล้ว  
 
ทางทรู ฯ มีความกังวลว่า ลูกค้าทรูที่มีอยู่  18 ล้านเลขหมาย และทางทรูจะหมดสัมปทาน วันที่  15 กันยายนนี้ ก็เป็นเรื่องที่ทรูต้องเร่งทำความเข้าใจกับลูกค้า และพยายามแข่งประมูลเพื่อได้คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ต  เพื่อจะได้ดูแลลูกค้าได้ต่อเนื่อง  ซึ่งขณะนี้ แม้จะมีความชัดเจนว่า บริษัท กสท.โทรคมนาคม ต้องคลื่นคืน 1800 เมื่อหมดสัมปทาน แต่ก็ต้องดูแนวทางการกำกับ และนโยบายการจัดสรรคคลื่นส่วนนี้ของกสทช.ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ซึ่งคณะทำงานฯ ของกสทช. ก็หารือกันกับเอกชนอยู่แล้ว และจะประกาศแผนที่ชัดเจนเร็วๆนี้  โดยเบื้องต้น กสทช.ได้กำหนดช่วงระยะเวลาในการโอนย้ายลูกค้าแล้ว
  
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์  ดีแทค ระบุว่า ดีแทคจะเปิดตัวแบบไม่เป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ และจะเปิดให้บริการเป็นทางการในเดือนกรกฏาคม แต่ขณะนี้พบว่ามีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงในการโอนย้ายเครือข่ายแล้ว 1 ล้าน 7 แสนเลขหมาย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นลูกค้าเดิม  โดยดีแทคทำในแบรนด์ของไตรเน็ต ซึ่งเป็นการใช้คลื่นร่วมกันระหว่าง 850,1800 และ 2,100 เมกกะเฮิร์ซ ในโครงการเริ่มต้น 4,000 สถานีฐาน และจะครบ 5,000 สถานีฐานในปลายปี  โดยใช้งบลงทุน 34,000-40,000 ล้านบาทคลอบคลุม 3 ปี   โดยเชื่อมั่นว่าจะดูแลได้ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้า 2 จีเดิม
 
ส่วนการโอนย้ายเครือข่ายนั้น ภาพรวมยังเป็นลูกค้า 2 จี ซึ่งการที่บริษัทจะหมดสัญญาสัมปทานในอีก 5-6 ปีนี้ ก็เชื่อว่าลูกค้าจะค่อยๆ ทะยอยย้ายมาเครือข่ายใหม่ แต่ขณะนี้ หากลูกค้าไม่ยินยอมย้ายมาเครือข่ายใหม่ ทางดีแทค ก็มีโปรโมชั่น ในการดูแลลูกค้าที่ใช้บริการควบคู่ไปด้วย
 
ทั้ง 3 ค่าย ยอมรับว่า ปัญหาที่สร้างความหนักใจให้ผู้ประกอบการมากที่สุด คือ นโยบาย้ด้านราคาของ กสทช.ที่ต้องดำเนินการ รวมถึง ประเด็นการคืนเงินสดให้ผู้บริโภคเต็มจำนวนหากมีเงินเหลือในระบบเติมเงิน เนื่องจากจำนวนเงินที่เหลืออยู่ร้อยละ 30 ทางค่ายมือถือต้องนำส่งให้บริษัทที่เป็นคู่สัญญาณสัมปทาน ในขณะที่ต้องคืนเงินเต็มจำนวนให้ผู้บริโภค เท่ากับว่าบริษัทจะขาดทุนร้อยละ 30 ต่อ 1 เลขหมาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ระบบเติมเงินในระบบอย่างน้อย 70ล้านเลขหมาย แต่ทุกค่ายก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของ กสทช. แต่ขณะนี้พบว่า มีผู้แจ้งขอเงินคืนน้อยมาก
 
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลค่าบริการ 3 จี ย่าน 2.1  ระบุว่า วันที่ 11 มิถุนายน สำนักงาน กสทช. จะสรุปภาพรวมการตรวจสอบเอกชนว่าปฏิบัติตามคำสั่งของกสทช.หรือไม่ หลังเปิดให้บริการครบ 1 เดือน โดยวันพรุ่งนี้จะเน้นเกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องโปรโมชั่นที่มีอยู่ในตลาดว่าลดราคาลงร้อยละ 15 ตามที่ กสทช.ลงพ้นที่สุ่มสำรวจ  ทั้งนี้ ยอมรับว่า การปลี่ยนผ่านโครงสร้างไปสู่เครือข่าย 3 จี ใหม่ในช่วงแรกจะเกี่ยวกับการดูแลให้เป็นไปตามกลไกลตลาด และการดูแลเรื่องราคา แต่สิ่งที่ กสทช.จะต้องดูแลหลังจากนี้ คือการพิจารณาในมิติคลอบคลุมทุกด้านเพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองคู่ขนานด้วยเช่นกัน  ซึ่งช่วงแรกที่เปิดให้บริการตอนนี้ ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่ เกี่ยวกับความไม่เข้าใจ ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค และความคาดหวังในการได้รับบริการที่เป็นธรรม
 
โดยเฉพาะการจำกัดความเร็วดาต้า  เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมามากที่สุด ตามด้วยปัญหา พื้นที่ไม่ครอบคลุมสัญญาณ ,สัญญาณหาย ซึ่งกระบวนของกสทช. หลังได้รับเรื่องร้องเรียน ก็เรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อสรุปข้อเท็จจริง และนำไปเข้ากระบวนการแก้ปัญหา
พร้อมยอมรับว่า ปัญหาที่กสทช.เป็นห่วงมากที่สุด คือ การตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการให้เป็นไปตามที่ กสทช.กำหนด เนื่องจากโปรโมชั่นในตลาดขณะนี้มีอยู่จำนวนมาก ทำให้
 
การคิดคำนวนค่าเฉลี่ยจะเกิดความซับซ้อน    รวมถึงประเด็นการโอนย้ายลูกค้าที่ผู้ให้บริการจะต้องทำให้ได้วันละ 3 แสนคน จากปัจจุบันเฉลี่ยวัน 1 แสนราย ซึ่งกสทช.คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนกว่าเอกชนจะทำได้ตามที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูที่ความพร้อมของผู้ประกอบการด้วย
 
ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ต้องการขอคืนเงิน กสทช.ยืนยันว่า มีสิทธิ์ทำได้ โดยต้องไปแสดงตนที่ศูนย์ให้บริการพร้อมบัตรประชาชน  
 
นอกจากนี้ มีเรื่องที่ กสทช.หนักใจคือ การรวบรวมข้อมูล เพื่อมากำหนดนโยบายที่เหมาะสม โดยทั้ง 3 รายเริ่มธุรกิจที่มีแบล็กราวเดิมอยู่และมีเอกชน ข้อมูล ขั้นตอนเอกสาร ที่แยกกันลำบาก รวมถึงผลด้านการนโนบายด้านราคา และต้องทำงานด้วยความรอบคอบและทำงานด้วยความระมัดระวัง  นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขอความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นข้อมูลเชิงลึก  ซึ่งต้องประสานการทำงานงานร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกสทช.
 
 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง